วันอาทิตย์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อน มหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น (20 ปี)

ระหว่างวันที่ 19-20 ตุลาคม 2560
ณ ห้องประชุมหอสมุดฯ และหอประชุมวชิราลงกรณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 38 แห่งทั่วประเทศ ประกอบด้วยอธิการบดี รองอธิการบดี ผู้อำนวยการกองนโยบายและแผน และผู้เกี่ยวข้อง ได้รวมพลังกันจัดประชุมปฏิบัติการเพื่อพัฒนาและสังเคราะห์โครงการสำคัญที่มีเป้าหมายการพัฒนาท้องถิ่น ยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิต ยกระดับคุณภาพการศึกษา โดยการใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการพัฒนาท้องถิ่นเป็นแนวทาง ใช้ปรัชญาของมหาวิทยาลัยราชภัฏในภาพรวม "รวมพลังปัญญาของแผ่นดิน" การประชุมครั้งนี้ยังสอดคล้องกับการขับเคลื่อนตาม "ยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น"  ตาม "ยุทธศาสตร์ใหม่มหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นตามพระราโชบาย ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579)"  โดยแต่ละมหาวิทยาลัยราชภัฏได้เสนอโครงการสำคัญ (Flagship Project) ที่มีเป้าประสงค์และตัวชี้วัดที่สอดคล้องกับนโยบายสำคัญของรัฐบาล เป็นงานตามบทบาทและพันธกิจของมหาวิทยาลัยราชภัฏ และเป็นโครงการที่มีพื้นที่ให้บริการในจังหวัดที่รับผิดชอบอย่างชัดเจน โดยมุ่งเน้นเสนอกรอบโครงการตามพันธกิจ ได้แก่ (1) การพัฒนาท้องถิ่น  (2) การผลิตและพัฒนาครู (3) การยกระดับคุณภาพการศึกษา และ  (4) การพัฒนาระบบบริหารจัดการ
สำหรับการประชุมปฏิบัติการในวันที่ 20 ตุลาคม 2560 เวลา 13.00 น. ณ หอประชุมวชิราลงกรณ ที่ประชุมชาวมหาวิทยาลัยราชภัฏ ได้รับเกียรติจาก ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้เกียรติบรรยายและมอบนโยบายในหัวข้อ "Thailand 4.0 กับบทบาทของมหาวิทยาลัยราชภัฏ" ซึ่งมีสาระสำคัญชี้ให้เห็นถึงทิศทางการพัฒนาประเทศในระยะ 20 ปี ตามยุทธศาสตร์ชาติที่เกิดจากการสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลกในด้านต่างๆ ซึ่งเป็นแรงกดันจากภายนอก ประเทศไทยและคนไทยจึงจำเป็นต้องทำปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์  สำคัญคือ "โลกเปลี่ยน คนปรับ" ทั้งวัฒนธรรมการดำรงชีวิต การเรียนรู้ และการทำงาน โดยระดับประเทศได้กำหนดกรอบยุทธศาสตร์ของชาติไว้ในระยะ 20 ปี ที่เรียกว่า "ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี" มีวิสัยทัศน์พัฒนาประเทศไปสู่ ประเทศไทย 4.0 ที่มีความ "มั่นคง มั่งคัง ยั่งยืน"
       หลังจากจบการบรรยายและการให้นโยบายของท่าน ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ที่มีต่อชาวราชภัฏแล้ว ที่ประชุมได้นำเสนอกรอบแนวคิดและโครงการ "ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น"  ซึ่งให้เกียรตินำเสนอโดย ผศ.ดร.ณรงค์ พุทธิชีวิน ที่ปรึกษาอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี  โดยสาระสำคัญของการนำเสนอเป็นกรอบแนวคิด เป้าหมาย ผลผลิตผลลัพธ์ และผลกระทบที่จะเกิดจากการรวมพลังของชาวมหาวิทยาลัยราชภัฏ ซึ่งสาระสำคัญเกิดจากการสังเคราะห์โครงการสำคัญๆ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ 38 แห่ง แห่งละ 3 โครงการ  รวมทั้งหมด 114 โครงการ ซึ่งเป็นโครงการที่อาจเรียกว่า Flagship Project ที่มีผลผลิตและผลกระทบต่อท้องถิ่นอย่างชัดเจน ตอบโจทย์ทิศทางการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะการยกระดับคุณภาพชีวิตและคุณภาพการศึกษในระดับชุมชน ท้องถิ่น ซึ่งเป็นระดับฐานรากสำคัญของประเทศที่มหาวิทยาลัยราชภัฏกระจายกันอยู่ในพื้นที่ทั่วประเทศ หลังการนำเสนอ ท่าน ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ได้ให้ความเห็นว่ากรอบการดำเนินงานตามที่ได้นำเสนอ ตรงกับกรอบนโยบายและทิศทางการพัฒนาประเทศ และนับเป็นบทบาทสำคัญของมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ ทั้งนี้ ขอให้มหาวิทยาลัยราชภัฏได้เตรียมการ ดำเนินการปรับโครงการให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อดำเนินการเสนอในขั้นต่อไป อาจเชิญนายกรัฐมนตรีได้รับฟังการนำเสนอ โดยจะพิจารณาสนับสนุนงบประมาณให้มหาวิทยาลัยราชภัฏดำเนินการต่อไปอย่างเป็นรูปธรรม
   สำหรับมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ได้เสนอโครงการในการขับเคลื่อน "ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น"  จำนวน 3 โครงการ ได้แก่
  1. โครงการยกระดับคุณภาพมาตรฐานการให้บริการในระบบผลิตและพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาชายแดนใต้ (พ.ศ. 2562 - 2579)  รับผิดชอบหลักโดยสถาบันพัฒนาครูและคณะครุศาสตร์ และคณะที่มีหลักสูตรสาขาด้านครุศาสตร์
  2. โครงการศูนย์การศึกษาและวิจัยด้านอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหารฮาลาล (อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี)  รับผิดชอบหลักโดยคณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการเกษตร และคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
  3. โครงการยกระดับคุณภาพและมาตรฐานการท่องเที่ยวและการบริการจังหวัดชายแดนภาคใต้ รับผิดชอบหลักโดยคณะวิทยาการจัดการ และคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

        ทั้งนี้ การดำเนินงานทั้ง 3 โครงการดังกล่าว สอดคล้องกับโครงการสำคัญ (Flagship Project) ของมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ตามแผนยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาสู่มาตรฐานความเป็นเลิศระยะ 10 ปี พ.ศ. 2560-2569  อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องปรับเป้าหมาย ผลลัพธ์ และผลกระทบ และตัวชี้วัดสำคัญของโครงการให้สอดคล้องกับ "ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น" ในภาพรวมอีกครั้ง ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความสอดคล้อง เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อให้การติดตามประเมินผลในภาพรวมของมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศมีประสิทธิภาพสูงสุดต่อไป 




 แหล่งอ้างอิง