วันศุกร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

การเรียนรู้แบบ Active Learning รายวิชา Web-based Instruction: WBI โดยใช้ Weblog เป็นเครื่องมือ

 การจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning ที่จะต้องออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติให้มากที่สุด สำหรับแนวทางการส่งเสริมให้ผู้เรียนมีทักษะการเขียน การนำเสนอ และปลูกฝังความรับผิดชอบในการเรียนรู้ด้วยตนเองสำหรับผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 ในยุคปัจจุบันนั้น  เว็บบล็อก (Weblog)  เครื่องมือสำหรับสื่อสังคมออนไลน์ นับว่าเป็นเครื่องมือช่วยส่งเสริมและสนับสนุนการฝึกฝนทักษะดังกล่าวได้เป็นอย่างดี และเป็นเครื่องมือที่ง่ายต่อการใช้งาน เช่น Google Blogger (https://blogger.com)  การให้ผู้เรียนมีเว็บบล็อก พัฒนา เผยแพร่ และนำเสนอผลงานของตนเอง จะเป็นการสร้างแฟ้มสะสมผลงานของนักศึกษาเองได้อีกด้วย





    จากกรณีศึกษาการจัดการเรียนรู้ในรายวิชา Web-based Instruction: WBI ของนักศึกษาหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต สาขาคอมพิวเตอร์ศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ชั้นปีที่ 4 ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2561 จำนวน 28 คน ซึ่งจากประสบการณ์การสอนในรายวิชาที่ผ่านมาของนักศึกษากลุ่มนี้ พบปัญหาว่า นักศึกษายังจำเป็นต้องเสริมทักษะการเขียนภาษาไทย การนำเสนอ จึงออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ จึงทดองให้นักศึกษาสร้างเว็บบล็อก นำเสนอรูปแบบและตกแต่งให้สวยงาม เหมาะสม กำหนดงานมอบหมายให้สรุปผลการเรียนรู้ทุกครั้งที่ผู้สอนจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ด้วยการเขียน พร้อมภาพประกอบ และสื่ออื่น ๆ โดยไม่จำกัดรูปแบบการนำเสนอ นำเสนอไว้ในเว็บบล็อกของตนเอง และส่งไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในชุมชนการเรียนรู้ของรายวิชาใน Google+

 ชุมชนการเรียนรู้ในรายวิชา WBI


    หลังจากเสร็จสิ้นการจัดการเรียนรู้ในภาคเรียนที่ 1/2561  แล้ว พบว่าผลงานการพัฒนาเว็บบล็อกของนักศึกษาแต่ละคน มีผลการสรุปการเรียนรู้ รวม 12 ครั้ง จากการจัดการเรียนรู้ 16 ครั้ง (ส่วนที่ขาดไปเป็นวันหยุดราชการ) ซึ่งปรากฎผลงานของนักศึกษา ดังนี้ 
  1. นางสาวนูรีดา ยามูสะนอ    https://kalakrungnueng.blogspot.com 
  2. นางสาวฮาซานะห์ มะแซ   https://hasa55.blogspot.com
  3. นายนัสรี แปแนะ  https://crucom004.blogspot.com
  4. นางสาวซาอีด๊ะห์ ตาเยะ  https://405809005saedah.blogspot.com 
  5. นายฟารุก ซิ   https://farukfs.blogspot.com
  6. นางสาวมาณีษา บาสอลอ  http://manisa007.blogspot.com
  7. นางสาวนูรมา ดอมาดา  http://405809009sun.blogspot.com 
  8. นูรอิฮซาน มะแซ  http://405809009sun.blogspot.com
  9. นางสาวอามานี โต๊ะทา  https://anneean.blogspot.com
  10. นางสาวพาตีเมาะ สา  https://wbi405809011.blogspot.com 
  11. นางสาวณัฐติกา เกษตรกาลาม์  https://nuttika12.blogspot.com
  12. นางสาวอัสมานี เฮ็งตา  https://hengta405809014.blogspot.com 
  13. สุไรนีย์ มะเร้ะ  https://portfoliosurainee.blogspot.com
  14. นางสาวฟาอียะห์ โซ๊ะซู   https://fa-e-yah.blogspot.com
  15. นางสาวกูฮูดาห์ รายอลือแมะ  https://kuhuda17.blogspot.com
  16. นางสาวยามีละห์ ยูโซะ  https://yameelah9018.blogspot.com
  17. นางสาวนูรมี มานิ๊   https://ammy58.blogspot.com/
  18. นายมูฮำหมัดฟาอี เจ๊ะโซ๊ะ  http://portfolio405809020.blogspot.com
  19. นางสาวยัสมูน สาและ https://portfolioyasmun.blogspot.co
  20. นายธีรภัทร ปิยะ  https://kru405809022.blogspot.com
  21. มัสลัน โตะ   https://krucomputer023.blogspot.com
  22. นางสาวพุดดือลา เวาะโซะ   https://puddela24.blogspot.com
  23. นางสาวมูนีเราะ สาและ  https://405809025.blogspot.com 
  24. นางสาวนูรูลฟารีซา บินยาโก๊ะ  http://nurulfarisa-b.blogspot.com
  25. นางสาวอัสมีนีย์ หะยียา  https://asmini027.blogspot.com
  26. นายกัรมียะห์ ดาฮา  https://karmeeyah.blogspot.com
  27. นายอารีฟีน มะแอ  https://405809029.blogspot.com
  28. นางสาวซูนิตา เตะโระ  https://ta221900.blogspot.com   




วันพุธที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2561

เทคนิคการวิเคราะห์ แก้ไขปัญหา และการตัดสินใจในสถานการณ์ที่ซับซ้อน

     เทคนิคการวิเคราะห์ แก้ไขปัญหา และการตัดสินใจในสถานการณ์ที่ซับซ้อน เป็นความรู้ที่ได้มาจากการเข้าร่วม โครงการฝึกอบรมหลักสูตร “การบริหารงานอุดมศึกษา ระดับกลาง” ระหว่างวันที่ 27 สิงหาคม – 13 กันยายน 2561 ณ โรงแรมบีพีแกรนด์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา จัดโดยสำนักสิริพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) โดยมีวิทยากร คือ คุณพัฒนชัย กุลสิริสวัสดิ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบริษัท ชัยบูรณ์บราเดอร์ส
      เนื้อหาประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก ได้แก่ 1) การวิเคราะห์และแก้ไขปัญหา 2) การตัดสินใจในสถานการณ์ที่ซับซ้อน ปัญหาคือความต่างระหว่างความจริงกับสิ่งที่คาดหวัง พื้นฐานในการวิเคราะห์ปัญหาเริ่มต้นด้วย อริยสัจสี่(กลไกแห่งการดับทุกข์) ซึ่งประกอบด้วย ทุกข์(ปัญหา) สมุทัย(สาเหตุ) นิโรธ และมรรค การหาสาเหตุสามารถใช้เทคนิค Why Why Analysis หรือ Cause & Effect Diagram ในการวิเคราะห์ได้ ต้องหาให้พบถึงสาเหตุสุดท้ายที่เกิดจากการปฏิบัติงาน สาเหตุมักมีหลายประเด็นซึ่งต้องคัดกรองเฉพาะสาเหตุที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดในการแก้ไข จากนั้นจึงนำสาเหตุที่เหลือมาจัดลำดับความสำคัญด้วยวิธี Pareto หรือ จัดอับดับแบบ 0/1 (เป็นการเปรียบเทียบสาเหตุเป็นคู่ๆ ว่าสาเหตุใดสำคัญว่ากัน)
     เมื่อได้สาเหตุที่จะนำมาแก้ไขแล้ว การดำเนินการขั้นตอนถัดไปเป็นการใช้แนวคิด PDCA เริ่มด้วยการวางแผน (Plan) เพื่อกำหนดมาตรการแก้ไขสาเหตุตามลำดับความสำคัญด้วยหลัก 5W2H และพิจารณามาตรการดังกล่าวด้วยพิจารณา Confirm(ยืนยันว่าทำได้), Conflict(ทำแล้วจะเกิดความขัดแย้งหรือไม่), Continuous(สามารถทำได้อย่างต่อเนื่องหรือไม่) และ Concrete(จับต้องและมีความเป็นไปได้) ขั้นตอนถัดไปคือการดำเนินการตามมาตรการที่ได้วางไว้ (Do) แล้วจึงทำการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผล (Check) โดยเปรียบเทียบ Before/After หรือใช้แผนผังการควบคุม (Control chart) ขั้นตอนสุดท้ายคือการ Action จากผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น หากสามารถแก้ไขปัญหาได้ให้กำหนดเป็นมาตรฐานด้วยการจัดทำเป็นคู่มือการปฏิบัติงานที่เรียกว่า QP(Quality Procedure) หรือ WI(Work Instruction)
     การแก้ไขปัญหาแบ่งได้เป็น 4 ประเภท ได้แก่ Reactive(เกิดแล้วแก้), Inactive(ทำไปแก้ไป), Pre-active(ป้องกันก่อนเกิด) and Proactive(จินตนาการว่าอะไรจะเกิดขึ้นบ้างแล้วหาทางป้องกัน) ในส่วนของการแก้ไขปัญหา 2 ประเภทหลัง คือ Pre-active และ Proactive นั้น เป็นการแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งต้องใช้การตัดสินใจ (Decision) มีความหมายว่า การเลือกทางที่ดีที่สุดจากทางเลือกที่มีอยู่เพื่อให้เกิดผลในการปฏิบัติสูงสุด การตัดสินใจแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ 1) การตัดสินใจการวางแผน(ล่วงหน้า) ซึ่งมักมีข้อมูลและเวลาที่เพียงพอในการตัดสินใจ และ 2) การตัดสินใจที่เป็นไปตามสถานการณ์(เร่งด่วน) ข้อมูลและเวลาที่มีมักจะน้อย ดังนั้นจึงควรให้ความสำคัญกับความถูกต้องของข้อมูลให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
     ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาหรือการตัดสินใจล้วนมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ การรักษาและยกระดับคุณภาพ เพื่อความพึงพอใจของลูกค้าทั้งภายในและภายนอกองค์กรเป็นสำคัญ สิ่งที่ทุกคนในองค์กรควรทำความเข้าใจตรงกันคือ ทุกการแก้ไขและการตัดสินใจนั้นมักจะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงไม่มากก็น้อย การสื่อสารด้วยวิธีการที่เหมาะสมและเพียงพอของผู้บริหาร จะช่วยปรับความรู้ ความเข้าใจ และทัศนคติที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงนั้นได้ จนทำให้คนในองค์กรเกิดการยอมรับและให้ความร่วมมือต่อการดำเนินการต่างๆ เพื่อพัฒนาองค์กรให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

วันเสาร์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2561

การบริหารจัดการแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์และการมีส่วนร่วม (Results-Based Management : RBM)


      ตลอดเวลาการอบรมหลักสูตรตาม โครงการฝึกอบรมหลักสูตร “การบริหารงานอุดมศึกษา ระดับกลาง” ระหว่างวันที่ 27 สิงหาคม – 13 กันยายน 2561 ณ โรงแรมบีพีแกรนด์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา รวมจำนวน 93 ชั่วโมง เป็นหลักสูตร "การบริหารงานอุดมศึกษาระดับกลาง" ของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ซึ่งบริหารจัดการหลักสูตรและอำนวยการฝึกอบรมโดยสำนักสิริพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) โอกาสนี้ต้องขอขอบคุณทางมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ที่ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญกับบุคลากรสายสนับสนุนในการอบรมเพื่อรับองค์ความรู้ทางด้านการบริหารจัดการ การอบรมครั้งนี้ จะเป็นการอบรมที่ถ่ายทอดองค์ความรู้จากวิทยากรที่ทรงคุณวุฒิ ประมาณ 22 ท่าน ซึ่งจะมีกระบวนรายวิชาทั้งสิ้น 24 วิชา 1 ศึกษาดูงาน และ 1 รายงานกลุ่ม รวมถึงการสกัดประเด็นความรู้ตามที่ได้รับมอบหมาย
       องค์ความรู้ที่ได้รับจากการอบรมถือเป็นองค์ความรู้ที่น่าสนใจและมีส่วนสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนองค์กรให้เกิดความยั่งยืน และบรรลุเป้าประสงค์ของยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาได้ต่อไปในอนาคต ทุกกระบวนรายวิชาเป็นองค์ความรู้ที่สำคัญต่อการปรับประยุกต์ใช้กับการบริหารจัดการองค์กรสู่อาชีพได้อย่างยั่งยื่น วิทยากรได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ รวมถึงถ่ายทอดประสบการณ์และนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับบุคลากรที่เข้าร่วมอบรมได้เป็นอย่างดี
       การบริหารจัดการแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์และมีส่วนร่วม (Results-Based Management : RBM) เป็นกระบวนรายวิชาที่มี อาจารย์ญาดา ดาวพลังพรหม อดีตนักทรัพยากรบุคคลเชี่ยวชาญ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน เป็นวิทยากรถ่ายทอดองค์ความรู้ วิชานี้เป็นหนึ่งกระบวนรายวิชาที่น่าสนใจที่จะสามารถนำปรับประยุกต์ใช้กับการบริหารงานจัดการองค์กรได้อย่างมีประสิทธิผล ซึ่งการบริหารจัดการแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์และมีส่วนร่วม คือ วิธีการบริหารที่มุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์หรือผลการปฏิบัติงานเป็นหลัก โดยมีการวัดผลการปฏิบัติงานด้วยตัวชี้วัดอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ ทำให้ผู้บริหารทราบผลความก้าวหน้าของการดำเนินงานเป็นระยะๆ และสามารถแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงทีเป็นการควบคุมทิศทาง การดำเนินงานให้มุ่งสู่วิสัยทัศน์ของหน่วยงาน การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ให้บรรลุจะต้องอาศัยเครื่องมือทฤษฏี ซึ่งเครื่องมือทฤษฏีดังกล่าว คือ Balanced Scorecard (BSC) เป็นเครื่องมือทางด้านการบริหารจัดการที่ช่วยในการประเมินผลองค์กรและช่วยให้องค์กรนำเอากลยุทธ์ไปปฏิบัติจริง (Strategic Implementation) โดยเริ่มต้นที่วิสัยทัศน์ ภารกิจ และกลยุทธ์ขององค์กร ซึ่งเป็นขั้นของการกำหนดปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จ และจากนั้นก็เป็นการสร้างดัชนีวัดผลสำเร็จ (Key Performance Indicators: KPI) ขึ้นเพื่อเป็นตัวบ่งชี้ถึงเป้าหมายและใช้วัดผลการดำเนินงานในส่วนที่สำคัญต่อกลยุทธ์
     ดังนั้น จากการอบรมและได้องค์ความรู้จากท่านวิทยากรจะสามารถนำหลักการบริหารจัดการแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์และมีส่วนร่วม (Results-Based Management : RBM) โดยใช้เครื่องมือ Balanced Scorecard (BSC) นำมาปรับใช้ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ขององค์กรให้บรรลุเป้าประสงค์ได้อย่างยั่งยืน ส่วนจะปรับใช้อย่างไรนั้น ตรงนี้จะต้องใช้เวลาในการฝึกทบทวน และศึกษากระบวนการวิธีการนำกลยุทธิ์มาใช้ในการบริหารให้เกิดความชำนาญที่จะสามารถนำไปถ่ายทอดองค์ความรู้ให้บุคลากรต่อไป

วันอาทิตย์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2561

รวมพลังผู้บริหารและสมาชิกชาว มรย. ขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยของเราสู่ Green YRU

       มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาสนับสนุนและส่งเสริมให้คณาจารย์และนักศึกษาสาขาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม เข้าร่วมโครงการประชุม “ปฏิบัติการเพื่อสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมด้านสิส่งแวดล้อมของเยาวชนภายในมหาวิทยาลัย (Green Youth)” จัดโดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (https://www.deqp.go.th/new)  ระหว่างวันที่ 7-9 กันยายน 2561 ณ โรงแรมเอเชียแอร์พอร์ท จังหวัดปทุมธานี  นำโดย อาจารย์นิธิ พลไชย อาจารย์ประจำหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (วท.บ.) สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการเกษตร และนักศึกษาจำนวน 4 คน เข้าร่วมประชุมปฏิบัติการ ร่วมสังเกตการณ์การจัดกิจกรรม ฟังบรรยายพิเศษและการเสวนา และนำเสนอโครงการเพื่อดำเนินงานและเตรียมนำเสนอผลในปีงบประมาณปี 2562 ต่อไป
       สำหรับการเข้าร่วมกิจกรรมโครงการ “ปฏิบัติการเพื่อสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมด้านสิส่งแวดล้อมของเยาวชนภายในมหาวิทยาลัย (Green Youth)” ครั้งนี้  วันเสาร์ที่ 8 กันยายน 2561 เวลา 10.00-12.00 น. จัดให้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) ระหว่างกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และเครือข่ายมหาวิทยาลัยทั้งหมดทั่วประเทศ จำนวน 28 แห่ง เพื่อสร้างความร่วมมือในการสนับสนุนให้เยาวชนในมหาวิทยาลัยดำเนินกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมภายในมหาวิทยาลัย เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ ตระหนักเกี่ยวกับการบริโภคที่มิตรกับสิ่งแวดล้อม การจัดการของเสีย การเพิ่มพื้นที่สีเขียว โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มอบหมายให้อาจารย์ ดร.ศิริชัย นามบุรี เป็นตัวแทนมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เข้าร่วมลงนาม MoU และร่วมฟังกิจกรรมบรรยายพิเศษสำหรับการประชุมปฏิบัติการในครั้งนี้ด้วย
        สาระสำคัญจากการบรรยายพิเศษ เรื่อง ทิศทางการพัฒนาสู่การก้าวเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ปริญญา เทวานฤมิตรกุล  รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต ที่อยากนำมาฝากชาว มรย. หลายๆ ประเด็น ได้แก่  การตระหนักถึงภัยของโลกที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ ที่พลโลกต้องร่วมมือกันป้องกันและรักษาไว้ให้ยืนยาวนานที่สุด  เป้าหมายของการพัฒนาโลกอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs)  17 ด้าน ที่สหประชาชาติ  หรือ UN (https://sustainabledevelopment.un.org/sdgs) ได้กำหนดไว้  วิทยากรยังได้ชี้ให้เห็นถึงบทบาทของมหาวิทยาลัยไทย ที่ต้องเป็นเครือข่ายผู้นำการเปลี่ยนแปลงในการดูแลรักษาทรัพยากรของชาติ ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้คุ้มค่าและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ SDGs ในด้านที่เป็นบทบาทและหน้าที่ของมหาวิทยาลัย และที่สำคัญที่สุดก็คือ พลังนักศึกษาในมหาวิทยาลัย  ที่จะต้องเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยไปสู่ Green University  ทำกิจกรรมนักศึกษาเชิงสร้างสรรค์ที่สอดคล้องกับเป้าหมาย SDGs  โดยเริ่มที่ตัวนักศึกษาเอง  

      ดังนั้น วาระการขับเคลื่อนการพัฒนามหาวิทยาลัยไปสู่ Green University นับเป็นเรื่องสำคัญในการปลูกฝัง บ่มเพาะ นักศึกษาที่จะสำเร็จการศึกษาเป็นบัณฑิตออกไป ทำหน้าที่พลเมืองที่ดีของประเทศไทยและเป็นพลโลกที่ดีมีคุณภาพ  จึงนับเป็นเรื่องของทุกคนใน มรย. ที่ต้องสนใจ ใส่ใจ ตระหนัก เรียนรู้ให้เกิดความเข้าใจ ร่วมมือ ร่วมใจกัน เพื่อขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยให้เป็น Green University หรือเป็น Sustainability University ที่ได้รับการยอมรับของสังคมต่อไป
     ขณะนี้ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา กำลังดำเนินการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยไปสู่ Green YRU หรือ Green University โดยเผยแพร่กิจกรรมและองค์ความรู้ เพื่อการสื่อสารและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เป็นการจัดการความรู้อีกเวทีหนึ่งของเราชาว มรย.  โดยเผยแพร่ไว้ที่เว็บไซต์ http://greenyru.blogspot.com  ผู้สนใจติดตาม เข้าร่วมกิจกรรม และให้ข้อเสนอแนะได้ คณะกรรมการดำเนินงานยินดีนำไปเป็นแนวทางในการดำเนินงานต่อไป

อ่านเพิ่มเติม:  https://greenyru.blogspot.com/p/blog-page_16.html 

วันพฤหัสบดีที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2561

การพัฒนาสมรรถนะผู้บริหารระดับกลาง: กลไกสำคัญในการขับเคลื่อน มรย.สู่มาตรฐานและความเป็นเลิศ

บรรยากาศการอบรมหลักสูตรผู้บริหารระดับกลาง
มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา "คลังปัญญาแห่งชายแดนใต้"  มุ่งมั่นพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ทุกระดับ กำหนดเป็น "แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ระยะ 10 ปี (พ.ศ. 2560-2569) "  ซึ่ง "ทรัพยากรมนุษย์หรือคน" นับเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาองค์กรสู่มาตรฐานความเป็นเลิศ สอดคล้องกับเป้าประสงค์ของมหาวิทยาลัยฯ ตาม "แผนยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา สู่มาตรฐานความเป็นเลิศ ระยะ 10 ปี พ.ศ. 2560-2569" ใน "ยุทธศาสตร์ที่ 4 ปฏิรูประบบบริหารจัดการมหาวิทยาลัยให้มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ทันต่อการเปลี่ยนแปลง เน้นการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการสื่อสาร" โดยเฉพาะเป้าหมายยุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้ คือการพัฒนา "ผู้บริหารและบุคลากรมีสมรรถนะในการบริหารและปฏิบัติงานตามมาตรฐานและเป็นมืออาชีพ"
   ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2561  มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา จึงได้จัด "โครงการพัฒนาสมรรถนะและศักยภาพผู้บริหารสู่มืออาชีพ" ระหว่างวันที่ 27 สิงหาคม - 13 กันยายน 2561  ณ โรงแรมบีพีแกรนด์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา โดยกลุ่มเป้าหมายในการเข้าอบรมได้แก่ รองคณบดี ผู้อำนวยการกอง รองผู้อำนวยการ ผู้อำนวยการสำนักงาน และหัวหน้างานที่มีศักยภาพ รวม 32 คน  ซึ่งเนื้อหาและทักษะการฝึกปฏิบัติสอดคล้องกับหลักสูตร "การบริหารงานอุดมศึกษาระดับกลาง" ของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)  ซึ่งบริหารจัดการหลักสูตรและอำนวยการฝึกอบรมโดยสำนักสิริพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
   สำหรับสาระและเนื้อหาสำคัญของหลักสูตร ได้แก่ บริบทของการบริหารงานอุดมศึกษา การบริหารจัดการองค์กร ภาวะผู้นำและการบริหารทีมงาน การบริหารงานอุดมศึกษา การบริหารจัดการทรัพยากร การกำกับติดตามงานในสถานะนักบริหารงานอุดมศึกษาระดับกลาง การพัฒนาหลักการคิดและตัดสินใจอย่างมีเหตุผล และการศึกษาดูงานในสถาบันอุดมศึกษา และมีการจัดทำและเสนอรายงานการศึกษาเป็นกลุ่ม พร้อมประกวดโครงการดีเด่น ผลลัพธ์ที่สำคัญที่ได้จากการอบรมหลักสูตรผู้บริหารระดับกลางครั้งนี้ คือ การสร้างทีมที่เข้มแข็ง การสร้างเครือข่ายการบริหารงานทั้งภายในและภายนอก การพัมนาโครงการนำไปสู่การปฏิบัติจริง รวมทั้ง การนำความรู้ ประสบการณ์ที่ได้รับ ไปถ่ายทอดสู่การปฏิบัติจริงในหน่วยงาน หลังจากนี้ จะเป็นการติดตามเพื่อประเมินผล "ผลลัพธ์ (Outcome) " และ "ผลกระทบ (Inpact)"  จากผู้บริหารที่เข้าอบรมในครั้งนี้ ซึ่งถือเป็นหลักสูตร "นักบริหารระดับกลาง มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา รุ่น 1" และจะจัดให้มีหลักสูตรในรุ่นต่อไป และในระดับอื่นๆ ตามมาในระยะต่อไป

 

 

 

 

 

 


วันจันทร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2561

ประชุมเตรียมความพร้อม หลักสูตรการบริหารงานอุดมศึกษาระดับกลาง: การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อศักยภาพการแข่งขัน

อาจารย์ ดร.ศิริชัย นามบุรี ประธานประชุมเตรียมความพร้อมผู้บริหารระดับกลาง
มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เพื่อร่วมอบรมพัฒนาศักยภาพผู้บริหารมืออาชีพ
 ตามแผนยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาสู่มาตรฐานความเป็นเลิศ ระยะ 10 ปี (พ.ศ. 2560-2569) ใน "ยุทธศาสตร์ที่ 4 ปฏิรูประบบบริหารจัดการมหาวิทยาลัยให้มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ทันต่อการเปลี่ยนแปลง เน้นการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร"  กำหนดตัวชี้วัดที่สำคัญคือ " ร้อยละของผู้บริหารและบุคลากรได้รับการพัฒนาสมรรถนะและมีผลการนำไปประยุกต์ใช้" ดังนั้นในปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา โดยงานการเจ้าหน้าที่ กองกลาง สำนักงานอธิการบดี จึงจัดให้มี " โครงการพัฒนาสมรรถนะและศักยภาพผู้บริหารสู่มืออาชีพ " เป็นลักษณะโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการโดยใช้หลักสูตรการบริหารงานอุดมศึกษาระดับกลาง โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 27 สิงหาคม - 13 กันยายน 2561 (อบรมเฉพาะวันจันทร์-วันศุกร์)  ซึ่งจัดขึ้น ณ โรงแรมบีพีแกรนต์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โดยความร่วมมือระหว่าง มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา และ สำนักสิริพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
   สำหรับกลุ่มเป้าหมายของผู้เข้าอบรมในครั้งนี้ จำนวนไม่น้อยกว่า 30 คน ประกอบด้วยผู้บริหารระดับรองคณบดี รองผู้อำนวยการ ผู้อำนวยการกอง และหัวหน้างานที่มีศักยภาพและได้รับการพิจารณาคุณสมบัติ โดยคณะกรรมการดำเนินงาน  โดยการติดตามประเมินผลจากการอบรมครั้งนี้ นอกจากจะสรุปผลการดำเนินงานในภาพรวมเป็นรายงานผลการดำเนินงานโครงการเสนอต่อมหาวิทยาลัยแล้ว  ผู้เข้าอบรมจะต้องมีผลงานดังนี้
  1. จัดทำรายงานกลุ่ม กลุ่มละ 5-6 คน นำเสนอโครงการพัฒนาที่สำคัญ และสอดคล้องกับเป้าหมาย ตัวชี้วัดยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัย
  2. ถอดบทเรียนจากความรู้และประสบการณ์ของตนเอง เผยแพร่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเว็บไซต์จัดการความรู้ของหาวิทยาลัย คือ http://km.yru.ac.th อย่างน้อยคนละ 1 เรื่อง
  3. นำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับ ไปประยุกต์ใช้ในการบริหารหรือปฏิบัติงาน ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อหน่วยงาน มหาวิทยาลัย โดยจะมีการติดตามผลในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ในระยะ 3-6 เดือน เป็นรายบุคคลผ่านระบบสารสนเทศ e-HR ต่อไป  
เอกสารประกอบ
 

 

 

 

วันพฤหัสบดีที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2561

ประชุมปฏิบัติการ "การดำเนินงานตามระบบ LEAN"

มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาขับเคลื่อน การดำเนินการตามระบบ LEAN
เมื่อวันที่ 4-5 สิงหาคม 2561 สำนักงานประกันคุณภาพ สำนักงานอธิการบดี จัดกิจกรรมอบรมปฏิบัติการ "การดำเนินการตามระบบ LINE" ณ โรงแรมสยามออเรียนทัล อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โดยมีอาจารย์ ดร.ศิริชัย นามบุรี รักษาราชการแทนรองอธิการบดีฝ่ายบริหารให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิด และ อาจารย์สุวิมล อิสระธนาชัยกุล ผู้อำนวยการสำนักงานประกันคุณภาพ กล่าวรายงาน การจัดอบรมในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้บุคลากรมหาวิทยาลัยฯ ที่ปฏิบัติงานในหน่วยงานสายสนับสนุน เพิ่มประสิทธิภาพในมิติการให้บริการที่เป็นเลิศ ให้มีการทบทวน การพัฒนา และปรับปรุงกระบวนการทำงาน ลดขั้นตอนการปฏิบัติงาน เพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงาน เพิ่มผลผลิตของงานให้มากขึ้น การลดต้นทุนการดำเนินงานขององค์กร ลดระยะเวลารอคอยระหว่างกระบวนการต่าง ๆ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และส่งเสริมการมีส่วนร่วม การทำงานเป็นทีมของบุคลากรในมหาวิทยาลัย ทั้งนี้มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มุ่งมั่นยกระดับคุณภาพการปฏิบัติงานและบริการ ลดความสูญเสีย เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ มีนโยบายกำหนดเป็นองค์ประกอบสำคัญในการประเมินคุณภาพภายในปี 2562 สำหรับหน่วยงานสนับสนุน โดยมีทีมวิทยากร รองศาสตราจารย์นายแพทย์ธวัช ชาญชญานนท์ วิทยากรหลัก คุณยุพา แก้วมณี และคุณรุ่งทิพย์ อุดมวิเศษสันต์ จาก มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่

ทำไมต้องลีน 
กระบวนการทำงานเราไม่ผอมเพรียว (ไม่ลีน) มีการติดขัด คอขวด (ไม่ไหล ไม่ลื่น) ลูกค้าต้องรอนาน ไม่รู้ว่างานจะเสร็จเมื่อไหร่ ไม่ประกันเวลา และมีงานค้าง (work in process) คนทำงานเครียด ลูกค้าไม่พอใจ ไม่มีสิทธิภาพ มีความสูญเปล่า (wastes)







ดาวน์โหลดเอกสารการอบรม Download


วันพุธที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2561

ปฐมนิเทศบุคลากรใหม่ประจำปี พ.ศ. 2561: อนาคตและทิศทางของมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา

    กิจกรรมการปฐมนิเทศบุคลากรใหม่ เป็นกิจกรรม
สำคัญของงานพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา โดยจัดขึ้นเป็นประจำปีทุก ดำเนินงานโดยงานการเจ้าหน้าที่ กองกลาง สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มีวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่สำคัญ คือ  (1) เพื่อให้บุคลากรใหม่ รับรู้และเข้าใจประวัติความเป็นมา วัฒนธรรมองค์กร ที่สำคัญ ของมหาวิทยาลัย ใช้เป็นแนวทางในการประพฤติ ปฏิบัติตน ปฏิบัติงานให้มีความเจริญก้าวหน้าและอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข (2) เพื่อให้บุคลากรทราบถึงกรอบแนวทางการพัฒนาตนเองตามสมรรถนะหลัก (Core Competency) สมรรถนะเฉพาะตำแหน่ง และสมรรถนะองค์กร และ (3) เพื่อให้บุคลากรใหม่มีโอกาสสร้างความสัมพันธ์และเครือข่ายในการทำงานเป็นทีม ยกระดับการปฏิบัติงานสู่ความเป็นมืออาชีพ มุ่งมั่นผลสัมฤทธิ์ เกิดทักษะในการบริการที่ยึดมั่นในคุณธรรมจริยธรรม และเกิดค่านิยม เจตคติที่ดีต่อองค์กร







    สำหรับประเด็นเนื้อหาในการอบรมและปฐมนิเทศบุคลากรใม่ เน้นเนื้อหาสร้างความรู้ ความเข้าใจ และทักษะที่เกี่ยวข้องกับสมรรถนะหลักขององค์กร 5 ประการ ได้แก่
  1. การมุ่งผลสัมฤทธิ์ (Achievement Motivation) หมายถึง ความมุ่งมั่นจะปฏิบัติหน้าที่ราชการให้ดีหรือให้เกินมาตรฐานที่มีอยู่ โดยมาตรฐานนี้อาจเป็นผลการปฏิบัติงานที่ผ่านมาของตนเองหรือเกณฑ์วัดผลสัมฤทธิ์ที่ส่วนราชการกำหนดขึ้น อีกทั้งยังหมายรวมถึงการสร้างสรรค์พัฒนาผลงาน หรือกระบวนการปฏิบัติงานตามเป้าหมายที่ยากและท้าทายชนิดที่อาจไม่เคยมีผู้ใดสามารถกระทำได้มาก่อน
  2. บริการที่ดี (Service Mind ) หมายถึง ความตั้งใจและความพยายามของข้าราชการในการให้บริการต่อประชาชน ข้าราชการ หรือหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
  3. การสั่งสมความเชี่ยวชาญในงานอาชีพ (Expertise) หมายถึง ความสนใจใฝ่รู้ สั่งสมความรู้ความสามารถของตนในการปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยการศึกษา ค้นคว้า และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องจนสามารถประยุกต์ใช้ความรู้เชิงวิชาการและเทคโนโลยีต่างๆ เข้ากับการปฏิบัติราชการให้เกิดผลสัมฤทธิ์
  4. การยึดมั่นในความถูกต้องชอบธรรม และจริยธรรม (Integrity) หมายถึงการดำรงตนและประพฤติปฏิบัติอย่างถูกต้องเหมาะสม ทั้งตามกฎหมาย คุณธรรม จรรยาบรรณ แห่งวิชาชีพ และจรรยาข้าราชการเพื่อรักษาศักดิ์ศรีแห่งความเป็นข้าราชการ
  5. การทำงานเป็นทีม (Teamwork) หมายถึง ความตั้งใจที่จะทำงานร่วมกับผู้อื่น เป็นส่วนหนึ่งของทีม หน่วยงาน หรือส่วนราชการ โดยผู้ปฏิบัติมีฐานะเป็นสมาชิก ไม่จำเป็นต้องมีฐานะหัวหน้าทีม รวมทั้งความสามารถในการสร้างและรักษาสัมพันธภาพกับสมาชิกในทีม

     รวมถึงการแนะแนวทางในการปฏิบัติงาน การปฏิบัติตน และการอยู่ร่วมกันในวัฒนธรรม ค่านิยมองค์กรที่ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลากำหนดไว้  และแนวทางการพัฒนาตนเองเพื่อความก้าวหน้าในตำแหน่งงานและอาชีพของตนเอง สร้างความรัก ความผูกพัน จงรักภักดี ความภูมิใจในองค์กร "มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา" ต่อไป
Download  [เอกสาร PowerPoint]  [ เอกสาร PDF]