วันศุกร์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2565

รายงานสรุปผลการบริหารความเสี่ยงของมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565

วันนี้ ( 20 กันยายน 2565และวันที่ 27 กันยายน) สำนักงานประกันคุณภาพจัดประชุมคณะกรรมการดำเนินงานการบริหารความเสี่ยงของมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ครั้งที่  3/ 2565 และครั้งที่ 4/2565 ประชุมผ่านระบบออนไลน์ โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิริชัย  นามบุรี ประธานกรรมการ คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงของมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เป็นประธานการประชุม และคณะกรรมการดำเนินงานการบริหารความเสี่ยงของมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เข้าร่วมประชุม การพิจารณารายงานสรุปผลการบริหารความเสี่ยงของมหาวิทยาลัยประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 และข้อเสนอแนะจากคณะกรรมการฯ เพื่อดำเนินงานและจัดทำแผนบริหารความเสี่ยงของมหาวิทยาลัยในปีถัดไป สำหรับสรุปผลการบริหารความเสี่ยงฯ ทั้ง 10 ประเด็นดังนี้



                ประเด็นความเสี่ยงที่ประเมินมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น
                        1. จำนวนนักศึกษาใหม่ลดลงและไม่เป็นไปตามแผนรับ
                        2. ข้อผิดพลาดจากการควบคุมภายในที่ยังไม่มีประสิทธิภาพ
                ประเด็นความเสี่ยงที่ประเมินมีความเสี่ยงลดลง
                        1. บัณฑิตไม่เป็นที่ยอมรับของตลาด แรงงานในอนาคต
                        2. งบประมาณของมหาวิทยาลัยอาจมีไม่เพียงพอต่อการบริหารในอนาคต
                        3. การเสียโอกาสจากการปรับเปลี่ยนให้เป็นองค์กรดิจิทัล (Digital Trans-formation) ในการพัฒนามหาวิทยาลัย
                        4. มหาวิทยาลัยได้รับจัดสรรทุนวิจัยจากหน่วยงานภายนอกไม่เป็นไปตามเป้าหมาย
                        5. ผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง
                        6. การติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของบุคลากร ภายในมหาวิทยาลัย
                        7. ความไม่ปลอดภัยด้านโครงสร้างพื้นฐานระบบไฟฟ้า อาคารสถานที่และทรัพย์สินของทางราชการ
                        8. การเกิดผลประโยชน์ทับซ้อนและเกิดการทุจริตในองค์กร



                 ประเด็นความเสี่ยงที่ต้องนำไปบริหารความเสี่ยงในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566

1. จำนวนนักศึกษาใหม่ลดลงและไม่เป็นไปตามแผนรับ
                        2. บัณฑิตไม่เป็นที่ยอมรับของตลาด แรงงานในอนาคต (ปรับปัจจัยเสี่ยงและการประเมินโอกาสเป็นร้อยละภาวะการมีงานทำของบัณฑิตที่ตรงสาย และนำปัจจัยเสี่ยงด้านบัณฑิตต้องเพิ่มทักษะด้านภาษาอังกฤษที่มีค่าร้อยละต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานมากต้องมีการกำหนดเป็นประเด็นความเสี่ยง ในปีงบประมาณ พ.ศ 2566 ต่อไป)
                        3. งบประมาณของมหาวิทยาลัยอาจมีไม่เพียงพอต่อการบริหารในอนาคต เนื่องจากความไม่แน่นอนในการจัดสรรทุนวิจัยภายนอก
4. การเสียโอกาสจากการปรับเปลี่ยนให้เป็นองค์กรดิจิทัล (Digital Trans-formation) ในการพัฒนามหาวิทยาลัยเนื่องจากเป็นประเด็นความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
                        5. มหาวิทยาลัยได้รับจัดสรรทุนวิจัยจากหน่วยงานภายนอกไม่เป็นไปตามเป้าหมาย
                        6. ผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง


รายงานสรุปผลการบริหารความเสี่ยงประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 (ดาวน์โหลด)

มอบโล่รางวัลและเกียรติบัตรผลงานที่ได้รับรางวัลจากเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากการจัดการความรู้ (KM YRU Forum 2022)

วันนี้ (13 กันยายน 2565) ห้องประชุมสภามหาวิทยาลัยฯ ชั้น 2 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 50 พรรษา มหาวชิราลงกรณ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บุญสิทธิ์ ไชยชนะ รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เป็นเกียรติมอบรางวัลแก่ผู้ที่ชนะการประกวดกิจกรรมการจัดการความรู้ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 (KM YRU Forum 2022) 

             ตามที่มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาโดยคณะกรรมการจัดการความรู้ของมหาวิทยาลัยขับเคลื่อนการจัดการความรู้ (KM) ดำเนินการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากการจัดการความรู้ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 (KM YRU Forum 2022) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การจัดการความรู้ของมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผล เป็นประโยชน์ต่อมหาวิทยาลัยเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ การสร้างคลังความรู้ ที่ตกผลึกจากบุคลากรที่มีองค์ความรู้เฉพาะด้านของมหาวิทยาลัยในส่วนของการนำเสนอผลงานเข้าร่วมประกวดของตัวแทนจากหน่วยงานทั้ง 7 ส่วนราชการ ในมหาวิทยาลัย ร่วมส่งผลงานเข้าร่วมประกวดผลงานการจัดการความรู้ในแต่ละประเด็นรวมทั้งสิ้น 35 หัวข้อ ดังนี้
  ประเภทแนวปฏิบัติที่ดี มีผลงานเข้าร่วมประกวด จำนวน 20 หัวข้อ 
        ประเภทนวัตกรรม
          ประเด็นที่ 1 การจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21  จำนวน 6 หัวข้อ
          ประเด็นที่ 2 การบริหารจัดการงานวิจัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น จำนวน 2 หัวข้อ
          ประเด็นที่ 3 การบริการวิชาการเพื่อพัฒนาชุมชนท้องถิ่นจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 3 หัวข้อ
        ประเด็นที่ 4 การบริหารจัดการสู่องค์กรวิถีใหม่ (New Normal) หรือวิถีถัดไป (Next Normal)   จำนวน 4 หัวข้อ


           ในการนี้ คณะกรรมการพิจารณาและตัดสินผลงานที่เข้าร่วมประกวดการจัดเวทีแลกเปลี่ยนรู้จากการจัดการความรู้ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 (KM YRU Forum 2022) ตามคำสั่ง มรย. ที่ 2841/2565 ได้พิจารณาผลงานเรียบร้อยแล้ว จึงขอประกาศผลงานที่ได้รับรางวัล ดังรายละเอียด ดังนี้
                ประเภทแนวปฏิบัติที่ดี
                รางวัลชนะเลิศ หัวข้อ “บริการวิชาการสร้างยอดขาย 150,000 มาโดยไม่มีงบ... การพัฒนาหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้นของกลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้าบ้านลิมุด” โดย 1. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปวีณา เจะอารง 2. อาจารย์ ดร.กัลยรัตน์ พินิจจันทร์ 3. อาจารย์ธีรยุทธ มูเล็ง 4. อาจารย์อับดุลเราะห์มาน สาและ 5. อาจารย์อุษณีย์ พรหมศรียา
                 รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 หัวข้อ “การส่งเสริมผลงานวิจัยสู่การจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา” โดย 1. ผู้ช่วยศาสตราจารย์นิภาภัทร์  กุณฑล 2. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มูนีเร๊าะ ผดุง 3. อาจารย์ลิขิต ลาเต๊ะ 4. นางสาวศศิธร วิโนทัย
                  รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 หัวข้อ “การผลิตสื่อการสอนออนไลน์ด้วยมือถือ ในการจัดการเรียนรู้แบบผสมผสาน (Blended Learning) โดยใช้ YRU e-Learning เป็นฐาน” โดย ๑. ผู้ช่วยศาสตราจารย์นิภาภัทร์  กุณฑล ๒. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อีลีหย๊ะ  สนิโซ ๓. ผู้ช่วยศาสตราจารย์อิสมาแอ 
ล่าเตะเกะ ๔. อาจารย์ ดร.ปิยะรักษ์  ประดับเพชรรัตน์ ๕. อาจารย์อิมรอน  แวมง
                  ประเภทนวัตกรรม
                  ประเด็นที่ 1 การจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21
                 รางวัลชนะเลิศ หัวข้อ “เรียนสนุก วิจัยสำเร็จแบบปังปุรีเย่” โดย อาจารย์ ดร.ละออ มามะ
                 รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 หัวข้อ “กระบวนการพัฒนานักศึกษาสู่การนำเสนองานวิจัยในเวทีประชุมวิชาการระดับชาติ” โดย 1. อาจารย์วิไลวรรณ วิไลรัตน์ 2. อาจารย์สรียา หมัดอาด้ำ
                 รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 หัวข้อ “การบูรณาการรายวิชาเพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้ที่มีคุณภาพและลดภาระงานของนักศึกษา” โดย 1. อาจารย์นินุสรา มินทราศักดิ์ 2. อาจารย์สุไลมาน หะโมะ 3. อาจารย์คมวิทย์ สุขเสนีย์ 4. อาจารย์นาเดีย ปายอ 5. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วันฮารงค์ บินอิสริส
                 ประเด็นที่ 2 การบริหารจัดการงานวิจัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น
                 รางวัลชนะเลิศ หัวข้อ “Together Model" : รูปแบบการดำเนินงานการวิจัยด้านชุมชนและท้องถิ่น” โดยอาจารย์ ดร.ยุทธนา กาเด็ม
                 รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 หัวข้อ “นวัตกรรมกระบวนการสนทนากลุ่ม...ท่ามกลางวิถีปกติใหม่” โดย 1. รองศาสตราจารย์อัปสร อีซอ 2. อาจารย์อุษณีย์ พรหมศรียา 3. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณฏฐาระวี พงค์กระพันธุ์ 4. อาจารย์ ดร.วิโรจน์ ไพบูลย์เวชสวัสดิ์
                 ประเด็นที่ 3 การบริการวิชาการเพื่อพัฒนาชุมชนท้องถิ่นจังหวัดชายแดนภาคใต้
                 รางวัลชนะเลิศ หัวข้อ “นวัตกรรมการสื่อสารเพื่อการอนุรักษ์วัฒนธรรมอาหารพื้นถิ่น” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชินีเพ็ญ มะลิสุวรรณ
                 รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 หัวข้อ “กุญแจแห่งความสำเร็จของงานบริการวิชาการ โดยใช้เครื่องมือ : Design thinking” โดย 1. นางสาวพาตีเมาะ อาแยกาจิ 2. นายมูฮำหมัดตายุดิน บาฮะคีรี 3. นายซูไบดี โตะโมะ 4. นางสาวนัสรี มะแน
                 รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 หัวข้อ “ระบบการฝึกอบรมผ่านระบบคลาวด์ เพื่อเสริมสร้างทักษะการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 สำหรับครูโรงเรียนเทศบาล สังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จังหวัดยะลา” โดย 1. อาจารย์ ดร.พิชญ์สินี ไสยสิทธิ์
2. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิมพ์ปวีณ์ สุวรรณโณ 3. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บุญสิทธิ์  ไชยชนะ
                 ประเด็นที่ 4 การบริหารจัดการสู่องค์กรวิถีใหม่ (New Normal) หรือวิถีถัดไป (Next Normal)
                 รางวัลชนะเลิศ หัวข้อ “การประมวลผลข้อมูลสินทรัพย์เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจด้วยโปรแกรมธุรกิจอัจฉริยะ (ต้นแบบ) Information Processing for Decision Support system (iPDS-ITAM Prototype)” โดย นายมูฮามะ มะสง
                 รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 หัวข้อ “ระบบการให้คะแนนและรายงานผลคะแนน การจัดกิจกรรม KM YRU Forum” โดย นายมะรอเซะ ลาเม็ง








มหาวิทยาลัยจัดกิจกรรมเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากการจัดการความรู้ (KM YRU Forum 2022)



มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา จัดเวทีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากการจัดการความรู้ (KM YRU Forum 2022) ในวันที่ 28 มิถุนายน 2565 เวลา 09.00-16.00 น. ณ คณะวิทยาการจัดการ  เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้จากการจัดการความรู้ และผลงานนวัตกรรม ภายใต้กรอบประเด็นทั้ง 4 ประเด็น ดังนี้ประเด็นที่ 1  การผลิตบัณฑิตในศตวรรษที่ 21  ได้แก่ การจัดการเรียนรู้ในระบบอีเลิร์นนิ่ง การจัดการเรียนรู้ในระบบออนไลน์เพื่อยกระดับการผลิตบัณฑิตท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 สหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน (Cooperative and Work Integrated Education: CWIE) การจัดการเรียนรู้แบบผสมผสาน (Blended Learning) การจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning  หรือเทคนิค/กลยุทธ์/รูปแบบการจัดการเรียนรู้ สื่อและกระบวนการสร้างนวัตกรรมการศึกษา และอื่น ๆ ที่เสริมสร้างทักษะในศตวรรษที่ 21 ให้แก่ผู้เรียน เป็นต้น)   
                     ประเด็นที่ 2  การบริหารจัดการงานวิจัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ไม่ใช่ผลจากงานวิจัยแต่เป็นกระบวนการการบริหารจัดการงานวิจัย เช่น การพัฒนาโจทย์วิจัยเพื่อให้ได้ทุนทั้งภายในและภายนอกการเผยแพร่ผลงานวิจัย (ฐาน TCI/SCOPUS) การส่งเสริมผลงานวิจัยสู่การจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา การนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์เชิงสังคมและเชิงพาณิชย์ และการบูรณาการวิจัยกับการผลิตบัณฑิต เป็นต้น
                    ประเด็นที่ 3  การบริการวิชาการเพื่อพัฒนาชุมชนท้องถิ่นจังหวัดชายแดนภาคใต้ กระบวนการถ่ายทอดองค์ความรู้หรือนวัตกรรมรวมถึงการนำคุณค่าด้านศิลปวัฒนธรรมเพื่อยกระดับคุณภาพให้แก่ชุมชนท้องถิ่น และการบูรณาการบริการวิชาการกับการผลิตบัณฑิต เป็นต้น
                    ประเด็นที่ 4  การบริหารจัดการสู่องค์กรวิถีใหม่ (New Normal) หรือวิถีถัดไป (Next Normal) รูปแบบ วิธีการหรือขั้นตอน ที่นำมาประยุกต์ใช้ในหน่วยงาน เพื่อการบริหาร การจัดการ การปฏิบัติงาน และการให้บริการที่มีประสิทธิผลโดยใช้เทคโนโลยี ระบบดิจิทัล แพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อรองรับสถานการณ์โควิด-19 และสถานการณ์วิกฤติอื่น ๆ
                      การจัดเวที KM YRU Forum เป็นกลไกหนึ่งในการสนับสนุนการจัดการความรู้ของมหาวิทยาลัยให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization) และส่งเสริมให้บุคลากรของมหาวิทยาลัยเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ (Learner Person) ซึ่งเวที KM YRU Forum ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 โดยได้รับเกียรติจาก อาจารย์ ดร.ศิริชัย  นามบุรี  รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร เป็นประธานในพิธีเปิด และให้โอวาทมอบนโยบายการส่งเสริมให้บุคลากรของมหาวิทยาลัย สร้างสรรค์องค์ความรู้ที่เป็นแนวปฏิบัติและนวัตกรรมที่ส่งผลต่อคุณภาพตามพันธกิจของมหาวิทยาลัยให้ก้าวทันโลกของการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน


                         การจัดกิจกรรมหลังพิธีเปิด มีการจัดกิจกรรม YRU TED Talks ภายใต้หัวข้อ “อนาคตมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา: มหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นชายแดนใต้”

                         1. ตัวแทนผู้บริหารมหาวิทยาลัย อาจารย์ ดร.ศิริชัย  นามบุรี รองอธิการบดีฝ่ายบริหารนำเสนอหัวข้อ “Disruptive Technolog: education and Learnig Platform”
                         2. คณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการเกษตร  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดร.ลิลลา อดุลยศาสน์ นำเสนอหัวข้อ “English Skills กับอาจารย์และบัณฑิตยุคใหม่
                         3. คณะวิทยาการจัดการ อาจารย์อมรเทพ มณีเนียม นำเสนอหัวข้อ  “Metaverse โลกเสมือนกับการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาท้องถิ่นในยุคดิจิทัล” 
                         4. คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์พอหทัย  ซุ่นสั้น นำเสนอหัวข้อ "การออกแบบลายผ้ามัดย้อมและพัฒนาแบบผลิตภัณฑ์ของที่ระลึก เพื่อสร้างอัตลักษณ์กลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวตำบลภูเขาทอง อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส" 
                         5. คณะครุศาสตร์  อาจารย์ ดร.นัชชิมา บาเกาะ นำเสนอหัวข้อ Empathy Based Teaching Method การสอนบนพื้นฐานความเข้าใจในสังคมพหุวัฒนธรรม”



                         การจัดกิจกรรมเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากการจัดการความรู้ นำเสนอและแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากการจัดการความรู้ ห้องประกวดผลงานแนวปฏิบัติที่ดี  ห้องประชุมนังกา ห้องประกวดนวัตกรรม ประเด็นที่ 1 การจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ห้องฉายภาพยนตร์เพื่อการศึกษา  ห้องประกวดนวัตกรรม ประเด็นที่ 2 การบริหารจัดการงานวิจัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ห้องประชุมมังกิส  ห้องประกวดนวัตกรรม ประเด็นที่ 3 การบริการวิชาการเพื่อพัฒนาชุมชนท้องถิ่นจังหวัดชายแดนภาคใต้ ห้องประชุมหลิวเหลียน  ห้องประกวดนวัตกรรม ประเด็นที่ 4 การบริหารจัดการสู่องค์กรวิถีใหม่ (New Normal) หรือวิถีถัดไป (Next Normal) ห้องประชุมหยางถาว 




                          กำหนดการจัดกิจกรรมเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากการจัดการความรู้ (KM YRU Forum 2022 (ดาวน์โหลด)
                          ผลงานเข้าร่วมประกวดในเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้จารการจัดการความรู้ (ดาวน์โหลด)
                          ภาพกิจกรรม KM YRU Forum 2022 (ดาวน์โหลด)


วันจันทร์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2564

มอบโล่รางวัลและเกียรติบัตรผลงานที่ได้รับรางวัลจากเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากการจัดการความรู้ (KM YRU Forum 2020)


วันนี้ (14 ก.ย 64) เวลา 13.30 น. ที่ ห้องประชุมสภามหาวิทยาลัยฯ ชั้น 2 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 50 พรรษา มหาวชิราลงกรณ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เป็นเกียรติมอบรางวัลแก่ผู้ที่ชนะการประกวดกิจกรรมการจัดการความรู้ ประจำปีการศึกษา 2563 (KM YRU Forum 2020) ประจำปีงบประมาณ 2564

ตามที่มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาขับเคลื่อนการจัดการความรู้ (KM) ดำเนินการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากการจัดการความรู้ ปีการศึกษา 2563 (KM YRU Forum 2020) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การจัดการความรู้ของมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาเกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และเป็นประโยชน์ต่อมหาวิทยาลัย การจัดการความรู้ เป็นสิ่งสำคัญ และจำเป็นอย่างยิ่งที่มหาวิทยาลัยต้องมีการรวบรวมองค์ความรู้ เพื่อการเป็นองค์กรต้นแบบในการพัฒนามุ่งสู่องค์กรคุณภาพและการสนับสนุนการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยและท้องถิ่น
        ในการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากการจัดการความรู้ ปีการศึกษา 2563 (KM YRU Forum 2020) มีผลงานเข้าร่วมและเปลี่ยนเรียนรู้และเข้าร่วมประกวดในแต่ละประเด็น รวมทั้งสิ้น 44 หัวข้อ ดังนี้
        ประเด็นที่ 1  การจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 มีจำนวนผลงาน  13 หัวข้อ 
        ประเด็นที่ 2  การบริหารจัดการด้านการวิจัย มีจำนวนผลงาน  5 หัวข้อ
        ประเด็นที่ 3  การให้บริการวิชาการเพื่อพัฒนาท้องถิ่นชายแดนใต้ มีจำนวนผลงาน  11 หัวข้อ
        
ประเด็นที่ 4  การบริหารจัดการสู่องค์กร 4.0 มีจำนวนผลงาน  15 หัวข้อ

ผลงานที่ได้รับรางวัลแยกตามประเด็น ดังนี้
    





วิดีโอการนำเสนอในเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากการจัดการความรู้ (KM YRU Forum 2020)

วันเสาร์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2564

รายงานสรุปผลการบริหารความเสี่ยงของมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564


วันนี้ ( ๒๓ กันยายน ๒๕๖๔) เวลา ๑๕.๐๐ น. สำนักงานประกันคุณภาพจัดประชุมคณะกรรมการดำเนินงานการบริหารความเสี่ยงของมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ครั้งที่  ๑/๒๕๖๔ ประชุมแบบออนไลน์ โดยมีอาจารย์ ดร.ศิริชัย  นามบุรี รองอธิการบดีฝ่ายบริหารเป็นประธานในการประชุม และคณะกรรมการดำเนินงานการบริหารความเสี่ยงของมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เข้าร่วมประชุม การประชุมคณะกรรมการดำเนินงานบริหารความเสี่ยงมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มีวาระให้ทั้ง 7 ส่วนราชการรายงานผลการบริหารความเสี่ยงของหน่วยงาน การพิจารณารายงานผลการบริหารความเสี่ยงของมหาวิทยาลัยประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และข้อเสนอแนะจากคณะกรรมการฯ เพื่อดำเนินงานและจัดทำแผนบริหารความเสี่ยงของมหาวิทยาลัยในปีถัดไป สำหรับสรุปผลการบริหารความเสี่ยงฯ ทั้ง 8 ประเด็นดังนี้

สรุปประเด็นที่มีความเสี่ยงลดลง
มี
5 ประเด็น ดังนี้
    

          1. จำนวนนักศึกษาใหม่ลดลงและไม่เป็นไปตามแผนรับระดับความเสี่ยง
         2. รายได้ของมหาวิทยาลัยลดลง อาจไม่เพียงพอต่อการบริหารจัดการ และการจัดการเรียนการสอนของหลักสูตร
         3. ผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยมีจำนวนลดลง ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง ไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม
         4. ลูกหนี้เกินกำหนดระยะเวลา
         5. ความปลอดภัยด้านสถานที่และทรัพย์สินของทางราชการ

สรุปประเด็นที่มีความเสี่ยงเท่าเดิม 3 ประเด็น ดังนี้

    1. การติดเชื้อไวรัส Covid -19 ของบุคลากรภายในมหาวิทยาลัย
            2. การเสียโอกาสจากการปรับเปลี่ยนให้เป็นองค์กรดิจิทัล (Digital Trans-formation) ในการพัฒนามหาวิทยาลัย
            3. ชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยอาจไม่เป็นที่ยอมรับของตลาดแรงงานในอนาคต

   ทั้งนี้มีข้อเสนอแนะจากที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินงานการบริหารความเสี่ยงมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เพื่อนำไปใช้ในการบริหารจัดการความเสี่ยงในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565  ดังนี้
    1. ประเด็นความเสี่ยงใดที่ยังมีระดับความเสี่ยงสูง ให้นำไปบริหารจัดการความเสี่ยงในปีงบประมาณถัดไป
      2. ในทุกประเด็นความเสี่ยง ควรวิเคราะห์หาปัจจัยเสี่ยงที่เป็นปัจจัยภายนอก หรือความเสี่ยงแท้ เพื่อจะทำมาตรการให้ความเสี่ยงลดลง

        3. จัดทำปฏิทินการบริหารความเสี่ยง เพื่อกำกับและติดตามผลการดำเนินงานในทุกเดือน
        4. จัดการความรู้เรื่องการบริหารความเสี่ยง
        5. นำเอานวัตกรรม (โปรแกรมด้านการบริหารความเสี่ยง) มาใช้ในการวิเคราะห์และบริหารความเสี่ยง
        6. หากมีหน่วยงานใดที่ดำเนินการด้านการบริหารความเสี่ยง ที่มีผลงานโดดเด่นให้มีการมอบรางวัล best practice ด้านการบริหารความเสี่ยง

     

สำนักงานประกันคุณภาพจัดกิจกรรมอบรมปฏิบัติการ เรื่อง เกณฑ์การประเมินคุณภาพภายนอก พ.ศ. ๒๕๖๔-๒๕๖๕ (แบบออนไลน์)

วันที่ 27-28 กันยายน 2564  สำนักงานประกันคุณภาพจัดกิจกรรมอบรมปฏบิติการ เรื่อง "เกณฑ์การประเมินคุณภาพภายนอก พ.ศ. 2564-2565" (แบบออนไลน์) โดยมีอาจารย์ ดร.ศิริชัย  นามบุรี รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร เป็นประธานในการเปิดการอบรม และได้รับเกียรติจากรองศาสตราจารย์ ดร.วิทยา เมฆขำ ตำแหน่ง รองอธิการบดีฝ่ายแผนงานและประกันคุณภาพ มหาวิทยาราชภัฏสวนสุนันทา เป็นวิทยากร  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้บริหารและบุคลากรมีความรู้ ความเข้าใจในเกณฑ์การประเมินและสามารถจัดทำรายงานการประเมินตนเอง พร้อมเตรียมเอกสารหลักฐานได้อย่างถูกต้อง 

            การจัดอบรมปฏิบัติการ เรื่อง เกณฑ์การประเมินคุณภาพภายนอก พ.ศ. 2564-2565 สืบเนื่องจากที่สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา ระดับอุดมศึกษา (องค์การมหาชน)  กำหนดให้สถานศึกษา จัดทำรายงานการประเมินตนเอง ตามแนวทางการประเมินคุณภาพภายนอกระดับอุดมศึกษา (พ.ศ. 2564-2565) ในส่วนของมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาต้องดำเนินการะส่งรายงานพร้อมหลักฐาน ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2564

หัวข้อการบรรยาย 
    1. แนวทางการประเมินคุณภาพภายนอก ระดับอุดมศึกษา (พ.ศ. 2564-2565)
    2. การเตรียมความพร้อมก่อนรับการตรวจประเมินคุณภาพภายนอก
    3. ขั้นตอนการรับการประเมินคุณภาพภายนอก
    4. ตัวอย่างเอกสารหลักฐานที่ใช้แสดงสำหรับการประเมินคุณภาพภายนอก      

กรอบแนวทางการประเมินคุณภาพภายนอกของ สมศ.
       ด้านที่ 1 ผลสัมฤทธิ์ในการบริหารจัดการตามพันธกิจที่ตอบสนองต่อศักยภาพและความเชี่ยวชาญ        
       ด้านที่ 2 คุณภาพบัณฑิต (ตรี โท เอก)
       ด้านที่ 3 คุณภาพงานวิจัยและนวัตกรรม
       ด้านที่ 4 ผลของการบริการวิชาการ
       ด้านที่ 5 ผลของการประกันคุณภาพภายใน


กรอบแนวทางการประเมินคุณภาพภายนอก ระดับอุดมศึกษา ของ สมศ. 

ขั้นตอนการประเมินและการเตรียมความพร้อมก่อนการประเมิน       

    

การเตรียมความพร้อมก่อนการประเมินคุณภาพภายนอก ระดับอุดมศึกษา

               นำส่งข้อมูลประกอบการประเมินให้แก่ สมศ. ได้แก่
               1. รายงานการประเมินตนเอง 3 ปีย้อนหลัง นับจากปีล่าสุดที่มีการจัดทำประกันภายใน
               2. Common data sets : CDS 3 ปีย้อนหลัง
               3. นำเสนอข้อมูลของสถาบันอุดมศึกษา บริบท ความเชี่ยวชาญ และการดำเนินงานในด้านที่ 1 ในแบบฟอร์ม PA2-1 บทสรุปผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษา
               4. นำเสนอข้อมูลแบบฟอร์ม PA2-2 แบบสำรวจความพร้อมรับการประเมิน 32 ประเด็นพิจารณาและระบุแหล่งข้อมูล
               5. แจ้งช่วงระยะเวลาที่พร้อมรับการประเมินเบื้องต้น และรายชื่อผู้ประสานงานของสถาบันอุดมศึกษา    



รวมเอกสารประกอบการอบรม

สำนักงานประกันคุณภาพ จัดกิจกรรมอบรมปฏิบัติการ "การเตรียมความพร้อมองค์กรเข้าสู่การจัดอันดับมหาวิทยาลัย" (แบบออนไลน์)

 

วันที่ 7 กันยายน 2564 สำนักงานประกันคุณภาพ จัดอบรมปฏิบัติการ "การเตรียมความพร้อมองค์กรเข้าสู่การจัดอันดับมหาวิทยาลัย" (แบบออนไลน์) การจัดกิจกรรมในครั้งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้บริหารและบุคลากรของมหาวิทยาลัยมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการประเมินของ U-Multirank และ Times Higher Education (THE) เพื่อเป็นแนวทางในการเตรียมรับการประเมินและพัฒนามหาวิทยาลัยเข้าสู่การจัดอันดับองค์กรซึ่งมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาได้กำหนดตัวชี้วัดในแผนยุทธศาสตร์ 20 ปีของ

มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ในประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 5 การพัฒนาระบบบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ โดยมีเป้าประสงค์ มหาวิทยาลัยได้รับการยอมรับโดยมีแนวทางการดำเนินงานส่งเสริมและสนับสนุนมหาวิทยาลัยเพื่อเข้าสู่ระบบการจัดอันดับตามเกณฑ์ขององค์กรที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล โดยได้รับเกียรติจาก อาจารย์ ดร.ศิริชัย  นามบุรี รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร เป็นประธานในพิธีเปิด และได้รับเกียรติจากผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ใกล้รุ่ง สามารถ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิเคราะห์ข้อมูล จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เป็นวิทยากร ถ่ายทอดความรู้ 



        ทำไมต้อง Ranking = สะท้อนคุณภาพของมหาวิทยาลัย
                                        เปรียบเทียบกับมหาวิทยาลัยอื่น 
                                        นำไปสู่แผนพัฒนาวิทยาลัย

        แนวทางปฏิบัติในการเข้าสู่การจัดอันดับมหาวิทยาลัย = ผู้บริหารมหาวิทยาลัยเข้าใจตรงกัน เข้าใจตัวชี้วัดของการจัดอันดับในแต่ละสถาบัน (ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ) ทำ Gap Analysis (ยังขาดข้อมูลส่วนไหน ต้องปรับปรุงอะไรบ้าง) สร้างระบบสารสนเทศของมหาวิทยาลัย (มหาวิทยาลัย คณะ สาขา/ภาควิชา หลักสูตร)

        U-Multirank คือ เป็นการจัดอันดับที่เริ่มใช้ในปี 2014 โดย European Commission เปรียบเทียบมากกว่า 1,700 มหาวิทยาลัย จาก 92 ประเทศ โดยเปรียบเทียบในระดับสถาบัน และระดับสาขา 24 สาขา (ปี 2020)

          เปรียบเทียบมหาวิทยาลัยจากผลงานใน 5 ด้าน 1. Teaching&Learning 2. Research 3. Knowledge transfer 4. International orientation 5. Regional engagement  มีตัวชี้วัดย่อย 29 ตัวชี้วัด (ระดับสถาบัน) และมากกว่า 30 ตัวชี้วัด (ระดับสาขา)

          ข้อดีของ U-Multirank  คือ ไม่มี minimum requirement สำหรับมหาวิทยาลัยในการเข้าร่วมจัดอันดับ ประเมินแยกตามสาขาและมีความหลากหลายของตัวชี้วัดในทุก ๆ ด้าน ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนเชิงพาณิชย์  และเป็นเครื่องมือให้กับผู้บริหารในการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัย

          THE INPACT RANKINGS ที่มาและความสำคัญ คือ เป็นการจัดอันดับ SDG แยกรายข้อ วัดบทบาทของมหาวิทยาลัยในการมีส่วนช่วยเหลือ SDG แต่ละข้อ และทุกมหาวิทยาลัยสามารถเข้าร่วมการจัดอันดับได้ 

           วิธีการ แต่ละข้อ SDG จะมีตัวชี้วัดย่อยและมีการคำนวณคะแนนและจัดอันดับรายข้อ SDG 17 เป็นข้อบังคับ และมหาวิทยาลัยเลือกส่ง SDG อื่น ๆ อย่างน้อย 3 ข้อ ไม่จำเป็นต้องเหมือนกันทุกปี และต้องมีหลักฐานประกอบการประเมินทุกตัวชี้วัด (ประกาศนโยบาย รายงาน เว็บไซต์ ฯลฯ)


เอกสารประกอบการอบรม

สำนักงานประกันคุณภาพจัดกิจกรรมอบรม "การบริหารความเสี่ยง"

วันที่ 6 กันยายน 2564  สำนักงานประกันคุณภาพจัดกิจกรรมอบรมหัวข้อ “การบริหารความเสี่ยง” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีความรู้ความเข้าใจกระบวนการบริหารความเสี่ยง และเห็นความสำคัญในการนำบริหารความเสี่ยงไปใช้ในหน่วยยงานได้เต็มประสิทธิภาพ โดยได้รับเกียรติจาก อาจารย์ ดร.ศิริชัย นามบุรี รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรม และได้รับเกียรติจากอาจารย์สุรพงษ์  ชูรังสฤษฎิ์ เป็นวิทยากรในการอบรมให้ความรู้ในครั้งนี้ 

การจัดอบรมในครั้งนี้มีหัวข้อการอบรมที่เป็นหลักพื้นฐานของความเสี่ยง ความหมายของความเสี่ยง ความสำคัญของความเสี่ยงและการบริหารความเสี่ยง กระบวนการในการบริหารความเสี่ยงตามมาตรฐานด้านการบริหารความเสี่ยง ประกอบด้วย 

                ขั้นตอนที่ 1 Identify เป็นการระบุความเสี่ยงและผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมที่ผลกระทบต่อเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้

                 ขั้นตอนที่ 2 Analyze เป็นการวิเคราะห์ ประเมินถึงโอกาสที่จะเกิดขึ้นของความเสี่ยงและความรุนแรงของผลกระทบ
                 ขั้นตอนที่ 3 Plan เป็นการวางแผนโดยกำหนดกลยุทธ์เพื่อควบคุมผลกระทบของความเสี่ยง ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายหรือใกล้เคียงกับเป้าหมายที่กำหนดไว้
                 ขั้นตอนที่ 4 Track เป็นการติดตามข้อมูลเพื่อทราบร่องรอยของความเสี่ยง
                 ขั้นตอนที่ 5 Control การติดตาม กำกับ และตรวจสอบ การปฏิบัติการควบคุม ความเสี่ยง

องค์ประกอบของการบริหารความเสี่ยง

              ตามแนวคิดของโคโซ่ฉบับใหม่ COSO ERM 2017 เป็นกรอบแนวทางที่องค์กรควรกำหนดให้มีและเป็นแนวปฏิบัติในการออกแบบและนำการบริหารความเสี่ยงไปใช้เพื่อให้บรรลุกลยุทธ์และวัตถุประสงค์ทางธุรกิจ มี 20 องค์ประกอบ ดังนี้

            1. จัดตั้งคณะกรรมการดูแลความเสี่ยง (Exercises Board Risk Oversight) คณะกรรมการบริษัทมีหน้าที่กำกับดูแลการดำเนินงานตามกลยุทธ์ต่าง ๆ รวมถึงกำกับดูแลกิจการ เช่น คณะกรรมการควรมีการกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบด้านการบริหารความเสี่ยง คณะกรรมการควรมีความรู้และความเชี่ยวชาญในการกำกับการบริหารความเสี่ยงนอกจากนี้ คณะกรรมการควรมีความเป็นอิสระ หลีกเลี่ยงความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้น

             2. จัดตั้งโครงสร้างการดำเนินงาน (Establishes Operating Structures) องค์กรควรจัดตั้งโครงสร้างการดำเนินงานที่สอดคล้องกับกลยุทธ์และวัตถุประสงค์ทางธุรกิจ เช่น มีการกำหนดโครงสร้างการดำเนินงานและสายบังคับบัญชาที่เหมาะสม มีโครงสร้างในการบริหารความเสี่ยง มีการกำหนดอำนาจ หน้าที่ และความรับผิดชอบให้สอดคล้องกับกลยุทธ์

             3. ระบุวัฒนธรรมองค์กรที่ต้องการ (Defines Desired Culture) องค์กรควรระบุพฤติกรรมที่พึงประสงค์ ซึ่งแสดงถึงวัฒนธรรมองค์กรที่ต้องการ คณะกรรมการบริหารและฝ่ายบริหารเป็นผู้กำหนดวัฒนธรรมองค์กรทั้งสำหรับองค์กรในภาพรวมและสำหรับบุคลากร ภายใต้วัฒนธรรมองค์กรที่ให้ความสำคัญกับความเสี่ยง วัฒนธรรมองค์กรเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย ปัจจัยภายในที่สำคัญ ได้แก่ ระดับการใช้วิจารณญาณ ความเป็นอิสระในการตัดสินใจของพนักงานการสื่อสารระหว่างพนักงานและผู้จัดการ มาตรฐานและกฎเกณฑ์ต่างๆ แผนผังทางกายภาพของสถานที่ปฏิบัติงานและระบบค่าตอบแทน ปัจจัยภายนอก ได้แก่ ข้อกำหนดด้านกฎหมาย ความคาดหวังของลูกค้า นักลงทุน และองค์ประกอบอื่น ๆ

             4. แสดงความมุ่งมั่นในค่านิยมหลัก (Demonstrates Commitment to Core Values) องค์กรควรแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติตามค่านิยมหลักขององค์กรเช่น ยึดถือการบริหารความเสี่ยงเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กร การปฏิบัติตามภาระรับผิดชอบอย่างเคร่งครัด การสร้างความรับผิดชอบต่อตนเอง การกำหนดให้มีการสื่อสารที่เหมาะสม

             5. จูงใจ พัฒนา และรักษาบุคลากรที่มีความสามารถ (Attracts, Develops, and Retains Capable Individuals) องค์กรควรมุ่งมั่นในการสนับสนุนการสร้างทรัพยากรบุคคลควบคู่ไปกับกลยุทธ์และวัตถุประสงค์ทางธุรกิจ เช่น ฝึกอบรมบุคลากรในด้านการบริหารความเสี่ยง ส่งเสริมความสามารถของพนักงาน สร้างแรงจูงใจและผลตอบแทนอื่น ๆ อย่างเหมาะสมสำหรับตำแหน่งงานในทุกระดับ

             6. วิเคราะห์ธุรกิจ (Analyzes Business Context) องค์กรควรพิจารณาถึงผลกระทบจากบริบททางธุรกิจที่อาจเกิดขึ้นและส่งผลต่อระดับความเสี่ยงในภาพรวมขององค์กร เช่น การเข้าใจบริบททางธุรกิจ การคำนึงถึงสภาพแวดล้อมภายนอกและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

             7. ระบุความเสี่ยงที่ยอมรับได้ (Defines Risk Appetite) องค์กรควรระบุความเสี่ยงที่ยอมรับได้ เพื่อสร้าง รักษา และส่งเสริมความตระหนักถึงค่านิยม เช่น มีการกำหนดระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้และสื่อสารความเสี่ยงที่ยอมรับได้ให้ชัดเจน ความเสี่ยงที่ยอมรับได้ไม่มีการกำหนดรูปแบบที่ตายตัว หรือเป็นมาตรฐานที่จะใช้ได้กับทุกองค์กร ผู้บริหารเป็นผู้เลือกความเสี่ยงที่ยอมรับได้ภายใต้บริบททางธุรกิจที่ต่างกันในแต่ละองค์กร

             8. ประเมินกลยุทธ์ทางเลือก (Evaluates Alternative Strategies) องค์กรควรประเมินเพื่อค้นหากลยุทธ์ทางเลือกและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อโปรไฟล์ความเสี่ยงขององค์กร เช่น การวิเคราะห์ SWOT การประเมินมูลค่า การคาดการณ์รายได้ การวิเคราะห์คู่แข่ง และการวิเคราะห์สถานการณ์

กลยุทธ์ต้องสนับสนุนพันธกิจและวิสัยทัศน์ รวมถึงสอดคล้องกับค่านิยมหลักและความเสี่ยงที่ยอมรับได้

             9. กำหนดวัตถุประสงค์ทางธุรกิจ (Formulates Business Objectives) ในการกำหนดวัตถุประสงค์ทางธุรกิจ องค์กรควรพิจารณาความเสี่ยงในระดับต่าง ๆ ซึ่งสอดคล้องและสนับสนุน
กลยุทธ์ควบคู่ไปด้วย เช่น การกำหนดค่าความเบี่ยงเบนของความเสี่ยงจากผลการดำเนินงาน ซึ่งยังคงอยู่ในช่วงความเสี่ยงที่ยอมรับได้

             10. ระบุความเสี่ยง (Identifies Risk) องค์กรควรระบุความเสี่ยงที่ส่งผลต่อกลยุทธ์และวัตถุประสงค์ทางธุรกิจ เช่น ความเสี่ยงด้านลูกค้า ความเสี่ยงด้านการปฏิบัติงาน ความเสี่ยงด้านการเงิน และความเสี่ยงด้านการปฏิบัติตามกฎระเบียบ ความเสี่ยงทั้งหมดจะเก็บไว้ในโปรไฟล์ความเสี่ยงเพื่อนำไปจัดการความเสี่ยงเหล่านี้ต่อไป

             11. ประเมินความรุนแรงของความเสี่ยง (Assesses Severity of Risk) องค์กรควรประเมินความรุนแรงของความเสี่ยง โดยประเมินว่าแต่ละปัจจัยเสี่ยงนั้นมีโอกาสที่จะเกิดมากน้อยเพียงใด และหากเกิดขึ้นแล้วจะส่งผลกระทบต่อองค์กรรุนแรงเพียงใด

             12. จัดลำดับความสำคัญของความเสี่ยง (Prioritizes Risks) องค์กรควรคำนวณระดับความเสี่ยง (Risk Exposure) จัดลำดับความสำคัญของความเสี่ยง เพื่อเป็นพื้นฐานในการพิจารณาคัดเลือกวิธีตอบสนองต่อความเสี่ยงต่างๆ การคำนวณระดับความเสี่ยงเท่ากับผลคูณของคะแนนระหว่างโอกาสที่จะเกิดกับความเสียหายเพื่อจัดลำดับความสำคัญและใช้ในการตัดสินใจว่าความเสี่ยงใดควรเร่งจัดการก่อน

             13. ดำเนินการตอบสนองต่อความเสี่ยง (Implements Risk Responses) องค์กรควรระบุและคัดเลือกวิธีการตอบสนองต่อความเสี่ยงต่างๆ เช่น การยอบรับความเสี่ยงการลด การโอน หรือการหลีกเลี่ยง โดยศึกษาผลดีผลเสียความเป็นไปได้และค่าใช้จ่ายของแต่ละทางเลือก

             14. พัฒนากรอบความเสี่ยงในภาพรวม (Develops Portfolio View) องค์กรควรพัฒนาและประเมินความเสี่ยงในภาพรวมของทั้งองค์กร เครื่องมือที่นิยมใช้แสดงความเสี่ยงมีชื่อเรียกหลายชื่อ ได้แก่ Risk Map หรือ Risk Matrix

             15. ประเมินการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ (Assesses Substantial Change) องค์กรควรระบุและประเมินการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ทั้งภายในกิจการและภายนอกกิจการที่อาจส่งผลกระทบต่อกลยุทธ์และวัตถุประสงค์ทางธุรกิจที่สำคัญ เช่น ผู้บริหารระดับสูงลาออกจากตำแหน่ง การควบรวมกิจการ การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีหรือกฎ ระเบียบ ข้อบังคับต่าง ๆ

             16. ทบทวนความเสี่ยงและผลการดำเนินงาน (Reviews Risk and Performance) องค์กรควรทบทวนผลการดำเนินงานขององค์กร รวมถึงพิจารณาทบทวนความเสี่ยงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น องค์กรมีผลการดำเนินงานตามเป้าหมายแล้วหรือไม่ องค์กรประเมินความเสี่ยงได้แม่นยำหรือไม่ องค์กรพิจารณาระดับความเสี่ยงได้เหมาะสมกับเป้าหมายหรือไม่ หรือมีความเสี่ยงอื่นใดที่กำลังเกิดขึ้นและอาจส่งผลกระทบต่อองค์กร

             17. มุ่งมั่นปรับปรุงการบริหารความเสี่ยงองค์กร (Pursues Improvement in Enterprise Risk Management) องค์กรควรปรับปรุงการบริหารความเสี่ยงองค์กรอยู่สม่ำเสมอ โดยเฉพาะช่วงเวลาการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ เช่น การปรับโครงสร้างองค์กร หลังการประเมินผลการดำเนินงาน หรือการเปลี่ยนแปลงจากสภาพแวดล้อมภายนอกต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อระบบการบริหารความเสี่ยง

             18. ยกระดับระบบสารสนเทศ (Leverages Information Systems) องค์กรควรจัดให้มีสารสนเทศอย่างเพียงพอ เหมาะสมและทันต่อเวลา องค์กรอาจใช้กระบวนการวิเคราะห์กลุ่มข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Analytics) เพื่อค้นหารูปแบบความสัมพันธ์ของสิ่งเชื่อมโยงข้อมูลเข้าไว้ด้วยกันนำไปสู่การระบุและจัดการความเสี่ยงได้ดีขึ้น

             19. สื่อสารข้อมูลความเสี่ยง (Communicates Risk Information) องค์กรควรสื่อสารข้อมูลการบริหารความเสี่ยงองค์กรผ่านช่องทางการติดต่อต่างๆ ข้อมูลการสื่อสารทั้งระดับบนลงล่าง (Top-down Approach) และระดับล่างขึ้นบน (Bottom-up Approach) การสื่อสารข้อมูลความเสี่ยงควรมีให้เพียงพอทั้งภายในและภายนอกองค์กร

             20. รายงานผลความเสี่ยง วัฒนธรรม และผลการดำเนินงาน (Reports on Risk, Culture, and Performance) องค์กรควรรายงานความเสี่ยง วัฒนธรรมองค์กร และผลการดำเนินงานในทุกระดับให้ครอบคลุมทั่วทั้งองค์กร แม้จะมีการมอบหมายหน้าที่ด้านการรายงานผลให้หน่วยงานหรือบุคคลใดแล้วก็ตาม ผู้บริหารก็ยังต้องมีหน้าที่กำกับดูแลด้วย

             สำหรับกรอบการบริหารความเสี่ยงองค์กรตามกรอบของ COSO ERM 2017 สามารถสรุปเป็นแนวทางดำเนินงานได้ดังตารางนี้