วันอาทิตย์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2561

รวมพลังผู้บริหารและสมาชิกชาว มรย. ขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยของเราสู่ Green YRU

       มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาสนับสนุนและส่งเสริมให้คณาจารย์และนักศึกษาสาขาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม เข้าร่วมโครงการประชุม “ปฏิบัติการเพื่อสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมด้านสิส่งแวดล้อมของเยาวชนภายในมหาวิทยาลัย (Green Youth)” จัดโดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (https://www.deqp.go.th/new)  ระหว่างวันที่ 7-9 กันยายน 2561 ณ โรงแรมเอเชียแอร์พอร์ท จังหวัดปทุมธานี  นำโดย อาจารย์นิธิ พลไชย อาจารย์ประจำหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (วท.บ.) สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการเกษตร และนักศึกษาจำนวน 4 คน เข้าร่วมประชุมปฏิบัติการ ร่วมสังเกตการณ์การจัดกิจกรรม ฟังบรรยายพิเศษและการเสวนา และนำเสนอโครงการเพื่อดำเนินงานและเตรียมนำเสนอผลในปีงบประมาณปี 2562 ต่อไป
       สำหรับการเข้าร่วมกิจกรรมโครงการ “ปฏิบัติการเพื่อสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมด้านสิส่งแวดล้อมของเยาวชนภายในมหาวิทยาลัย (Green Youth)” ครั้งนี้  วันเสาร์ที่ 8 กันยายน 2561 เวลา 10.00-12.00 น. จัดให้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) ระหว่างกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และเครือข่ายมหาวิทยาลัยทั้งหมดทั่วประเทศ จำนวน 28 แห่ง เพื่อสร้างความร่วมมือในการสนับสนุนให้เยาวชนในมหาวิทยาลัยดำเนินกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมภายในมหาวิทยาลัย เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ ตระหนักเกี่ยวกับการบริโภคที่มิตรกับสิ่งแวดล้อม การจัดการของเสีย การเพิ่มพื้นที่สีเขียว โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มอบหมายให้อาจารย์ ดร.ศิริชัย นามบุรี เป็นตัวแทนมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เข้าร่วมลงนาม MoU และร่วมฟังกิจกรรมบรรยายพิเศษสำหรับการประชุมปฏิบัติการในครั้งนี้ด้วย
        สาระสำคัญจากการบรรยายพิเศษ เรื่อง ทิศทางการพัฒนาสู่การก้าวเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ปริญญา เทวานฤมิตรกุล  รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต ที่อยากนำมาฝากชาว มรย. หลายๆ ประเด็น ได้แก่  การตระหนักถึงภัยของโลกที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ ที่พลโลกต้องร่วมมือกันป้องกันและรักษาไว้ให้ยืนยาวนานที่สุด  เป้าหมายของการพัฒนาโลกอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs)  17 ด้าน ที่สหประชาชาติ  หรือ UN (https://sustainabledevelopment.un.org/sdgs) ได้กำหนดไว้  วิทยากรยังได้ชี้ให้เห็นถึงบทบาทของมหาวิทยาลัยไทย ที่ต้องเป็นเครือข่ายผู้นำการเปลี่ยนแปลงในการดูแลรักษาทรัพยากรของชาติ ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้คุ้มค่าและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ SDGs ในด้านที่เป็นบทบาทและหน้าที่ของมหาวิทยาลัย และที่สำคัญที่สุดก็คือ พลังนักศึกษาในมหาวิทยาลัย  ที่จะต้องเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยไปสู่ Green University  ทำกิจกรรมนักศึกษาเชิงสร้างสรรค์ที่สอดคล้องกับเป้าหมาย SDGs  โดยเริ่มที่ตัวนักศึกษาเอง  

      ดังนั้น วาระการขับเคลื่อนการพัฒนามหาวิทยาลัยไปสู่ Green University นับเป็นเรื่องสำคัญในการปลูกฝัง บ่มเพาะ นักศึกษาที่จะสำเร็จการศึกษาเป็นบัณฑิตออกไป ทำหน้าที่พลเมืองที่ดีของประเทศไทยและเป็นพลโลกที่ดีมีคุณภาพ  จึงนับเป็นเรื่องของทุกคนใน มรย. ที่ต้องสนใจ ใส่ใจ ตระหนัก เรียนรู้ให้เกิดความเข้าใจ ร่วมมือ ร่วมใจกัน เพื่อขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยให้เป็น Green University หรือเป็น Sustainability University ที่ได้รับการยอมรับของสังคมต่อไป
     ขณะนี้ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา กำลังดำเนินการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยไปสู่ Green YRU หรือ Green University โดยเผยแพร่กิจกรรมและองค์ความรู้ เพื่อการสื่อสารและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เป็นการจัดการความรู้อีกเวทีหนึ่งของเราชาว มรย.  โดยเผยแพร่ไว้ที่เว็บไซต์ http://greenyru.blogspot.com  ผู้สนใจติดตาม เข้าร่วมกิจกรรม และให้ข้อเสนอแนะได้ คณะกรรมการดำเนินงานยินดีนำไปเป็นแนวทางในการดำเนินงานต่อไป

อ่านเพิ่มเติม:  https://greenyru.blogspot.com/p/blog-page_16.html 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น