วันศุกร์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

สถาบันนวัตกรรมการจัดการเกษตรสมัยใหม่และอุตสาหกรรมอาหารเชิงสร้างสรรค์: การปรับตัวของมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาเพื่ออนาคต

  
ในวันพุธที่ 14 พฤศจิกายน 2562 ณ ศูนย์การเรียนรู้แม่ลาน อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี  คณะผู้บริหารและคณาจารย์ ผู้ทรงคุณวุฒิจากสภามหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ร่วมกันประชุมขับเคลื่อนการจัดตั้ง "สถาบันนวัตกรรมการจัดการเกษตรสมัยใหม่และอุตสาหกรรมอาหารเชิงสร้างสรรค์ (Institute of Innovation Management in Smart Agriculture and Creative Food Industry)" โดยจัดทำ (ร่าง) ข้อบังคับสภามหาวิทยาลัยเพื่อเตรียมนำเข้าสภามหาวิทยาลัยจัดตั้งหน่วยงานสนองตอบนโยบายของประเทศและพื้นที่ชายแดนภาคใต้ โดยมีท่านนายกสภามหาวิทยาลัย รศ.ดร.ช่วงโชติ พันธุเวช  ดร.ปรีดี โชติช่วง ผู้ทรงคุณวุฒิจากสภามหาวิทยาลัย และอธิการบดี ผศ.ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ เป็นที่ปรึกษาและให้ข้อเสนอแนะ ซึ่งการดำเนินการครั้งนี้ เป็นการดำเนินการตามมติของสภามหาวิทยาลัย เมื่อคราวการประชุมสภามหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ครั้งที่ 9/2562 เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2562 ที่ผ่านมา 
      สำหรับ สถาบันนวัตกรรมการจัดการเกษตรสมัยใหม่และอุตสาหกรรมอาหารเชิงสร้างสรรค์ ที่จะจัดตั้งขึ้นนี้ ตั้งอยู่ที่ศูนย์การเรียนรู้แม่ลาน พื้นที่ประมาณ 200 กว่าไร่ มีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตบัณฑิต วิจัย บริการวิชาการโดยใช้ชุมชนท้องถิ่นเป็นฐาน สร้างบัณฑิตที่สร้างงานเองได้ นับเป็นการปรับตัวและปฏิรูปการจัดการเรียนการสอนสมัยใหม่ แก้ปัญหาด้านหลักสูตรและสาขาวิชาที่เปิดสอนอยู่ในปัจจุบัน ยังไม่สามารถตอบสนองกับความต้องการของการพัฒนากําลังคนของประเทศ ไม่สนองความต้องการของตลาดแรงงานและผู้ประกอบการ รวมทั้งการแก้ปัญหาของ ชุมชน ท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะจังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส พื้นทีบริการของมหาวิทยาลัย  อีกทั้งเป็นการปรับตัวตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกที่รุนแรงและรวดเร็ว ซึ่งมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา จึงมีความจําเป็นเร่งด่วนต้องพัฒนาหลักสูตรใหม่ ปรับรูปแบบและกระบวนการจัดการเรียนการสอนโดยการทำงานพร้อมกับการเรียนรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติ สร้างทักษะใหม่ของบัณฑิตให้ตรงกับความต้องการของตลาด ท้องถิ่น พื้นที่ สังคมและประเทศชาติ โดยเฉพาะในกลุ่มวิชาด้านการเกษตรสมัยใหม่และอุตสาหกรรมอาหารเชิงสร้างสรรค์ (Smart Agriculture and Food Industry Cluster) ซึ่งกลุ่มวิชานี้เป็นหนึ่งใน 10 กลุ่มวิชา (Subject Clusters) ตามนโยบายและเป้าหมายที่สําคัญสําหรับการพัฒนาประเทศไทยสู่ยุค 4.0 และพัฒนากําลังคนในศตวรรษที่ 21 ที่ต้องการกําลังคนเพื่อเข้าสู่การขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจ การเติบโตในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมต่าง ๆ  อีกทั้ง เป็นการสร้างบัณฑิต สร้างอาชีพและรายได้หลักของประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เน้นด้านการจัดการเกษตรสมัยใหม่ และอาหารท้องถิ่นสร้างสรรค์ โดยมีเป้าหมายรับนักศึกษาใหม่ในสาขาด้านการจัดการการเกษตรสมัยใหม่และอาหารสร้างสรรค์ ในปีการศึกษา 2563 นี้