กิจกรรมการประชุมปฏิบัติการในวันที่ 19-20 ธันวาคม 2558 เน้นการทบทวนความสำเร็จของผลการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา พ.ศ. 2555-2559 ที่ผ่านมา ซึ่งกำลังจะสิ้นสุดระยะการดำเนินงานตามแผนในปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 นี้ พร้อมกับการทบทวนผลการดำเนินงานจากการประเมินคุณภาพการศึกษาระดับหลักสูตร คณะ และสถาบัน ประจำปีการศึกษา พ.ศ. 2557 ที่ผ่านมา โดยรายงานให้ที่ประชุมเห็นผลการดำเนินงานที่ผ่านมา เป็นข้อมูลและสารสนเทศประกอบการพิจารณาเพื่อพัฒนาโครงการเร่งด่วนที่สำคัญ และสามารถดำเนินการและเห็นผลเชิงประจักษ์ได้ภายใน 1 ปีงบประมาณ โดยใช้งบยุทธศาสตร์ประจำปี พ.ศ. 2559 โดยที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันที่จะต้องร่วมแก้ปัญหาเร่งด่วนในเรื่องของคุณภาพการศึกษา การพัฒนาคุณภาพการให้บริการขององค์กรให้มีมาตรฐาน กิจกรรมการประชุมปฏิบัติการแบ่งออกเป็น 5 กลุ่มตามความสำคัญของปัญหา ได้แก่ 1) การพัฒนาระบบสหกิจศึกษาที่มีประสิทธิภาพ 2) การพัฒนาระบบส่งเสริมการทำผลงานวิชาการและงานวิจัย 3) การพัฒนาระบบการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ 4) การพัฒนามาตรฐานคุณภาพการให้บริการ และ 5) การพัฒนาระบบการจัดการขยะครบวงจร ซึ่งแต่ละกลุ่มได้นำเสนอร่างโครงการและกิจกรรม พร้อมงบประมาณ และพร้อมจะเร่งดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 นี้ ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2559 โดยกระบวนการดำเนินงานและการติดตามผลการดำเนินงาน มหาวิทยาลัยฯ จะให้ YRU Core Team มีส่วนร่วมในการร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมพัฒนา จัดให้มีคณะกรรมการดำเนินงานและติดตามผลการดำเนินงานอย่างเป็นระบบจาก YRU Core Team และรายงานผลให้มหาวิทยาลัยฯ ทราบความก้าวหน้าตามลำดับต่อไป
สำหรับ กิจกรรมในวันที่ 21-22 ธันวาคม 2558 เน้นการทบทวนสถานะของ มรย. จุดอ่อน จุดแข็ง โอกาส อุปสรรค ของมหาวิทยาลัย โดยกองนโยบายและแผน ร่วมกับสำนักงานประกันคุณภาพ นำเสนอข้อมูลสถานะปัจจุบันของมหาวิทยาลัยฯ ในด้านการจัดการเรียนการสอน หลักสูตร นักศึกษา การบริหารจัดการ บุคลากร งบประมาณ ผลงานวิจัยและผลงานวิชาการของอาจารย์ ทิศทางของมหาวิทยาลัยในอนาคต นอกจากนั้น รองศาสตราจารย์ ดร.ช่วงโชติ พันธุเวช และคุณสุพจน์ อาวาส ยังร่วมเป็นวิทยากรให้แนวคิดการพัฒนามหาวิทยาลัยในระยะ 10-15 ปีในอนาคต ที่ต้องเน้นการพิจารณาและติดตามการปรับเปลี่ยนจากปัจจัยภายนอกเป็นหลัก เน้นความต้องการใช้บัณฑิตจากผู้ใช้บัณฑิตจริงๆ โดยเฉพาะการเปิดประเทศเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ. 2559 ซึ่งสภาพสังคม เศรษฐกิจของไทยและประเทศในอาเซียน รวมถึงสถานการณ์ของโลกด้วย ซึ่งจะมีผลกระทบที่สำคัญมากๆ ต่อการกำหนดทิศทางการพัฒนามหาวิทยาลัยฯ และการพัฒนาและปรับปรุงหลักสูตรใหม่อย่างแน่นอน คือ ต้องเน้นการมองจากภายนอกเข้าสู่ภายใน (Outside-In) คือ มองปัจจัยและบริบทภายนอกที่มีผลกระทบต่อหลักสูตรและองค์กรเป็นหลัก โดยใช้ความได้เปรียบ ความเข้มแข็งและอัตลักษณ์ของ มรย.เป็นฐานคิด
นอกจากนั้น รองศาสตราจารย์ ดร.ช่วงโชติ พันธุเวช ได้นำเสนอกระบวนการพัฒนาแผนยุทธศาสตร์ การพัฒนามหาวิทยาลัย จะต้องเน้นปรัชญา "มหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น" และพันธกิจหลักของมหาวิทยาลัย ได้แก่ การสอนหรือการผลิตบัณฑิต การวิจัย การบริการวิชาการ และทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม และเสนอแนวทางการพัฒนาหลักสูตรให้มีจุดเด่นสู่ความเป็นเลิศของมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาโดยพิจารณาจากจุดแข็งของมหาวิทยาลัยฯ อาจกำหนดทิศทางพัฒนาหลักสูตรสู่ความเป็นเลิศให้อยู่ในกลุ่ม (Cluster) หลักๆ นำร่องก่อน ซึ่งในกิจกรรมกลุ่มของผู้เข้าอบรมในวันสุดท้ายได้แบ่งตามคณะ เลือกหลักสูตรเด่นอยู่ใน 4 กลุ่ม ได้แก่ 1) คณะครุศาสตร์เน้นกลุ่มเชี่ยวชาญผลิตครู เน้นสาขาวิทยาศาสตร์ สาขาคณิตศาสตร์ และสาขาภาษามลายูกลาง สร้างจุดเด่นคือ "เก่งวิธีสอน" 2) คณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการเกษตร เน้นสาขาวิทยาศาสตร์อาหารฮาลาล สาขาการบริบาลผู้สูงอายุ สาขาพลังงานทดแทน 3) คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เช่น ภาษามลายูกลาง ภาษาอาหรับ ภาษาอังกฤษ ศิลปะและวัฒนธรรมชายแดนใต้ และ 4) คณะวิทยาการจัดการ เน้นสาขาการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม สาขาการจัดการโลจิสติกส์ เป็นต้น โดยมหาวิทยาลัยฯ ควรจะใช้ความเก่ง จุดแข็ง และความเป็นอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัยฯ และเน้นตอบโจทย์แก้ปัญหาในพื้นที่บริการของมหาวิทยาลัยฯ ส่วน คุณสุพจน์ อาวาส ได้ให้ข้อเสนอแนะที่ควรเน้นการพัฒนาหลักสูตรและการผลิตบัณฑิตให้มีคุณลักษณะสู้งาน เก่งคิดวิเคราะห์ สร้างสรรค์ เรียนรู้ตลอดเวลา และบัณฑิตควรมีฐานคิดเชิงธุรกิจ การเป็นผู้ประกอบการในทุกหลักสูตร ส่งเสริมให้นักศึกษาทำงานเป็นตั้งแต่ยังไม่สำเร็จการศึกษา โดยสร้างผลิตภัณฑ์ของ มรย.ร่วมกับชุมชน
ผลจากการจัดโครงการและกิจกรรมการประชุมปฏิบัติการครั้งนี้ คณะผู้บริหารและผู้เข้าประชุมต่างได้รับความรู้ ประสบการณ์ และมุมมองที่แตกต่างไปจากเดิมจากผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์จากภายนอก ทำให้มหาวิทยาลัยฯ ต้องเร่งทบทวนและกำหนดทิศทาง รวมทั้งเป้าหมายของมหาวิทยาลัยฯ ในระยะ 10-15 ปี ข้างหน้าให้ชัดเจน เพื่อให้ทุกคนในองค์กรมองเห็นเป้าหมายเดียวกัน นั่นคือ การพัฒนามหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาไปสู่การเป็น "คลังปัญญาแห่งชายแดนใต้" อย่างแท้จริง ซึ่งอาจมีตัวชี้วัดที่สำคัญ ได้แก่ การที่มหาวิทยาลัยมีหลักสูตรที่สามารถตอบโจทย์ท้องถิ่นได้และสามารถพัฒนาไปสู่สากลโดยอาศัยอัตลักษณ์ของ มรย.เอง การผลิตบัณฑิตที่สามารถทำงานได้ ทำงานเป็น เก่งชุมชนเป็นที่ยอมรับของสังคม มหาวิทยาลัยฯ มีองค์ความรู้และมีนวัตกรรมจากงานวิจัยเพื่อนำไปบริการชุมชน แก้ไขปัญหาในพื้นที่จนสามารถยกระดับการศึกษาและคุณภาพชีวิตชุมชนได้ รวมทั้ง การพัฒนาองค์กรให้เป็นต้นแบบคุณภาพการให้บริการ การสร้างสังคมพหุวัฒนธรรมและสังคมสันติสุขในพื้นที่ ซึ่งแนวคิดที่เป็นประโยชน์เหล่านี้ จะได้นำไปเป็นกรอบแนวคิดในการพัฒนาแผนยุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ระยะ 15 ปี ในกิจกรรมพัฒนาแผนยุทธศาสตร์ฯ ในครั้งต่อไป
. |
|
|