วันเสาร์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2559

สาระจากการประชุมสัมมนา "การนำระบบการประกันคุณภาพภายในระดับอุดมศึกษา พ.ศ.2557 ไปใช้"

วันที่ 8 มกราคม 2558 ผู้บริหารมหาวิทยาลัย คณะ และบุคลากรของ มรย. ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ระบบประกันคุณภาพของ สกอ.ปีการศึกษา 2557 ที่ผ่านมา รวม 25 คน ร่วมกิจกรรมประชุมสัมมนา เรื่อง
การนำระบบการประกันคุณภาพในระดับอุดมศึกษา พ.ศ. 2557 ไปใช้ ปัญหา อุปสรรค และแนวทางการแก้ไข ครั้งที่ 2 ณ โรงแรมลีการ์เด้นท์ พลาซ่อ หาดใหญ่ โดยมีวิทยากร ผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ ศ.นพ. วุฒิชัย ธนาพงศธร  รศ.ดร.สมบูรณ์วัลย์
สัตยารักษ์วิทย์ และผศ.จินดา งามสุทธิ พร้อมทั้ง คุณนุชนภา รื่นอบเชย ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานและคุณภาพอุดมศึกษา  ร่วมรับฟังปัญหา ข้อเสนอแนะ และตอบประเด็นปัญหาต่างๆ จากมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชนในกระบวนการประเมินคุณภาพภายใน ข้อสงสัย ข้อสังเกตจากองค์ประกอบและเกณฑ์การประเมิน ทั้งในระดับหลักสูตร คณะ และสถาบัน ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจ จากการประชุมสัมมนาสรุปได้ดังนี้
  • ในระบบ CHE Online ตรวจสอบรายชื่ออาจารย์ประจำหลักสูตรอัตโนมัติ ฉะนั้น รายชื่ออาจารย์ประจำหลักสูตร ต้องอยู่ในฐานข้อมูลบุคลากรของมหาวิทยาลัยฯ และส่งข้อมูลให้กับ สกอ. นำเข้าระบบ CHE Online และหากฐานข้อมูลถูกต้อง สมบูรณ์ สกอ.อาจเปิดระบบ CHE Online ให้ใช้ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2558 นี้
  • กรณีเปิดร่วมกันระหว่าง ค.บ. และ วท.บ. จะมีอาจารย์ประจำหลักสูตรซ้ำไม่ได้ ยกเว้นอาจารย์ประจำหลักสูตร ป.โท และ ป.เอก ในสาขาวิชาเดียวกัน
  • สาขาวิชาที่สัมพันธ์กัน จะต้องอ้างอิงสาขาหลักและสาขารอง ตามรายชื่อหลักสูตรในฐานข้อมูลใน ISECD 2013
  • ในสาขาวิชาที่มีสภาวิชาชีพประเมินเพื่อรองรับ สาขาวิชาสามารถทำเรื่องมาที่ สกอ.เพื่อประสานและเสนอสภาวิชาชีพรับรององค์ประกอบที่ 1 การกำกับมาตรฐานหลักสูตร 
บัณฑิตศึกษา
  • อธิการบดีเป็นอาจารย์ประจำหรืออาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตรไม่ได้ แต่สามารถสอนและเป็นที่ปรึกษา สอบวิทยานิพนธ์ได้ ทั้งนี้ ต้องดูศักยภาพ
  • ผลงานตีพิมพ์ของนักศึกษาปริญญาโทหรือปริญญาเอกร่วมกับอาจารย์ที่ปรึกษาที่มีค่า Impact Factor ต้องไม่ต่ำกว่า 0.20 สามารถนับผลงานทั้งนักศึกษาและอาจารย์ แต่ควรพิจารณาความเหมาะสมทางจริยธรรมในการนำชื่ออาจารย์ที่ปรึกษาไปใส่ไว้ในผลงาน หากไม่ได้มีส่วนร่วม
ข้อสังเกต
  • ผู้บริหาร ประธานหลักสูตรและกรรมการหลักสูตร จะต้องเข้าใจระบบประกันคุณภาพและเกณฑ์การประเมินอย่างถ่องแท้ และใช้เป็นเครื่องมือสำหรับการบริหารเพื่อพัฒนาคุณภาพ
  • ในรอบปีการศึกษา พ.ศ. 2557 เป็นการทดลองระบบของ สกอ. โดยเฉพาะหลักสูตรที่มี มคอ.1  การตรวจอย่างเป็นทางการของ สกอ. เพื่อขอรับการขึ้นทะเบียนขึ้นอยู่กับความพร้อมของหลักสูตร เพื่อขึ้นทะเบียนในระบบ TQR ของ สกอ.ต่อไป
  • การประเมินของคณะกรรมการ ควรเน้น "การใช้วิจารณาญาณ" การเห็นร่วมกัน เรียกว่าการประเมินแบบ "พิชญพิจารณ์ (Peer Review)" [อ่านเอกสารเพิ่มเติมสำหรับแนวคิดการประเมินแบบพิชญพิจารณ์ของ ศ.ดร.สุวิมล ว่องวาณิช]
ส่วนคำถาม/ข้อสงสัยอื่นๆ ผู้สนใจสามารถสอบถาม สำนักมาตรฐานและคุณภาพอุดมศึกษา สกอ. และศึกษาจากกระดานถามตอบ ทั้งของ สกอ. และ สนง.ประกันคุณภาพ มรย. ต่อไป

คำถาม-คำตอบเพิ่มเติมของ สกอ. เกี่ยวกับระบบประกันคุณภาพภายใน