วันอังคารที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

การบริหารองค์กร: ทิศทางการพัฒนาระบบสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา

การปฏิรูปการบริหารองค์กรมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาในระยะ 10 ปีข้างหน้า ตามแผนยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาสู่มาตรฐานความเป็นเลิศ  ระยะ 10 ปี พ.ศ. 2560-2569 มุ่งเน้นองค์กรเป็นองค์กร Small and Smart University มุ่งเป็นองค์กรที่เป็น "คลังปัญญาแห่งชายแดนใต้" ตามวิสัยทัศน์ที่องค์กรกำหนดไว้ นั่นหมายถึงมหาวิทยาลัยฯ จะต้องเป็นองค์กรต้นแบบในการพัฒนาและการประยุกต์เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการบริหารองค์กรและการพัฒนาด้านการจัดการเรียนรู้ มีแนวปฏิบัติที่ดี มีผลผลิตที่เป็นระบบสารสนเทศหรือซอฟต์แวร์จดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา (การจดลิขสิทธิ์) สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาระบบราชการ 4.0 ที่ทางสำนักงานคณะกรรมการการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) กำหนดทิศทางไว้ที่หน่วยงานราชการ ตัวข้าราชการ บุคลากรที่อยู่ในองค์กรของราชการต้องปรับตัว ปรับเปลี่ยนแนวคิดและวิธีการทำงานในประเด็นที่ 3 คือ มีขีดสมรรถนะสูงและทันสมัย  ส่งเสริมและสนับสนุนให้ก้าวไปสู่ ประเทศไทย 4.0 - ระบบราชการ 4.0
       เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2560 เวลา 09.00-12.00 น. สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ  จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทิศทางการพัฒนาระบบสารสนเทศของมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา โดยมีทีมงานผู้บริหารมหาวิทยาลัย คณะ ทีมงานเทคโนโลยีสารสนเทศเข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จำนวนกว่า 50 คน โดยได้เรียนเชิญ อาจารย์ปัญญพัชร์ พู่ประเสริฐศักดิ์ และ อาจารย์ธันย์ทิวัธถ์  จันทนวรางกูร ผู้มีประสบการณ์พัฒนาระบบสารสนเทศขนาดใหญ่มาเป็นที่ปรึกษา
      ผลจากเวทีการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาระบบสารสนเทศต่างๆ ขององค์กร มุ่งเน้นไปในทิศทางพัฒนาเอง  "พึ่งพาตนเอง" ได้ แทนการจัดหาจากภายนอก (Out Source) ทั้งนี้ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นองค์ความรู้ของขององค์กร นอกจากนั้น ยังพบว่ามีประเด็นปัญหาสำคัญที่เกิดจากการขับเคลื่อนการนำไอซีทีมาใช้ในองค์กร ผู้ร่วมเวทีเสนอปัจจัยที่คาดว่ามีอิทธิพลต่อความสำเร็จในการพัฒนาระบบสารสนเทศขนาดใหญ่ขององค์กร เช่น ระบบสารสนเทศวางแผนและจัดการทรัพยากรองค์กร (Enterprise Resources Planing: ERP) รวมทั้งนโยบายที่สำคัญขององค์กรที่จะส่งผลให้โครงการพัฒนาระบบสารสนเทศประสบความสำเร็จ
   


 


ปัญหาที่สำคัญในการขับเคลื่อนการนำระบบสารสนเทศมาใช้ในองค์กร จากประสบการณ์ที่ผ่านมาของมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ได้แก่
  • ผู้บริหารระดับสูงขององค์กร ยังขาดความรุ้ ความเข้าใจ ทักษะในการออกแบบสารสนเทศที่จำเป็นต้องใช้ในการบริหารองค์กร ยังคงมองเห็นเฉพาะข้อมูลดิบที่เกิดจากระบบ TPS (Transaction Processing System: TPS) เป็นหลัก คือมุ่งมองแต่งานประจำ (Routine) เป็นส่วนใหญ่ 
  • ผู้ใช้ (Operator) จำเป็นต้องมีความรู้และทักษะเกี่ยวกับระบบตั้งแต่เริ่มต้นในการนำมาใช้
  • การกำหนดกระบวนการทำงาน (Process) ภายในหน่วยงานและระหว่างหน่วยงานยังไม่สอดคล้องกัน ขาดการเชื่อมต่อกัน อย่างเป็นระบบเดียวกัน
  • ขาดการเชื่อมโยงฐานข้อมูลระบบหลักขององค์กร รวมทั้งขาดผู้ที่จะตัดสินใจในการกำกับการเชื่อมโยงฐานข้อมูล
  • ข้อมูลและสารสนเทศบางส่วน ยังผูกติดกับบุคคล หรือบุคลากรคนใดคนหนึ่ง
  • ระบบที่จัดซื้อ (Out Sources) ไม่ตรงตามความต้องการ เมื่อใช้มาระยะหนึ่ง มีความต้องการเปลี่ยนไป
  • ช่วงการปรับเปลี่ยนใช้งานในระบบใหม่ อาจเกิดปัญหาภาระงานนำข้อมูลเข้าระบบหนักมาก จนเลิกใช้งาน
  • นโยบายของผู้บริหารไม่ชัดเจน ผู้บริหารขาดความเข้าบบสารสนเใจในระบบสารสนเทศ และไม่ใช้ระบบสารสนเทศ
  • งบประมาณในการบำรุงรักษา (Maintenance: MA) มีจำนวนมาก ซึ่งต้องมีค่าใช้จ่ายทุกปี และใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า
  • ขาดมาตรฐานหรือเทคโนโลยีกลางที่ใช้ร่วมกัน (มาตรฐานการพัฒนา ความรู้และทักษะทีมงาน  วิธีทำงาน หรือ Framework แตกต่างกัน)
  • การบริหารงานบุคลากรในการกำหนดบทบาท (Job Description) ยังขาดความชัดเจน เช่น นักวิชาการคอมพิวเตอร์ทำงานไม่ตรงกับหน้าที่หลัก
  • ความเสี่ยงที่เกิดจากการนำระบบผูกมัดกับคนๆ เดียว ขาดมาตรการหรือมาตรานในด้านความปลอดภัยของระบบสารสนเทศ
สำหรับปัจจัยความสำเร็จของการพัฒนาระบบสารสนเทศขององค์กร เห็นว่า สิ่งต่อไปจะมีผลต่อความสำเร็จของการพัฒนาระบบสารสนเทศ ได้แก่
  • การบริหารและกำหนดนโยบายแบบมีส่วนร่วมและกำหนดจากศูนย์กลาง
  • ความรู้ความเข้าใจของผู้บริหารในการออกแบบและนำสารสนเทศไปใช้งาน
  • มีหน่วยงานรองรับการทำงานแบบบูรณาการ ใช้นวัตกรรมเดียวกัน
  • นโยบายของผู้บริหารหรือองค์กร (ระยะยาว)
  • ความต้องการที่ชัดเจนของผู้ใช้ (หน่วยงาน) 
  • การพัฒนาทีมงานเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการบริหาร
  • การสร้างความเข้าใจกับทุกๆ หน่วยที่เกี่ยวข้อง ในทิศทางของมหาวิทยาลัย
  • ความจำเป็นของระบบที่เกิดจากความต้องการของผู้บริหารและผู้ใช้จริง
  • บทบาทของผู้ใช้ข้อมูลและสารสนเทศ
นอกจากนั้น ด้านนโยบายการบริหารงานด้านไอซีทีขององค์กร จะต้องมีความชัดเจน และกำหนดมาตรฐานขึ้นมาใช้ทั้งองค์กร ได้แก่
  • การพัฒนาระบบสารสนเทศขององค์กรภายใน จะต้องขออนุมัติในระดับนโยบาย เพื่อใช้ทรัพยากรร่วมกันและเป็นไปตามทิศทางการพัฒนาของมหาวิทยาลัย
  • การพัฒนาคน (ทั้งด้านนักพัฒนาระบบ และผู้เกี่ยวข้อง) จะต้องมีเป้าหมายให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
  • การพัฒนามาตรฐานการทำงานด้านไอซทีที่เป็นกรอบมาตรฐานสากล
  • การพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืนในอนาคต มุ่งสร้างผลิตเพื่อหาหรือสร้างรายได้
  • ควรมีการพัฒนาระบบการมอบหมายงาน (KPIs) ของนักวิชาการคอมพิวเตอร์ให้ชัดเจน ตามหน้าที่หลัก
  • การมอบหมาย KPIs ให้บุคลากรในหน่วยงานผู้ใช้ระบบโดยตรง เพื่อให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบสารสนเทศตั้งแต่เริ่มต้น
  • ควรมีการจัดทำแผนบริหารเรื่องความเสี่ยงด้านไอซีที
  • การกำหนดบทบาทในการพัฒนาระบบสารสนเทศในองค์กรให้ชัดเจน  เช่น  DBA, NA
  • เป้าหมายการพัฒนาระบบสารสนเทศ เพื่อตอบสนองการบริการท้องถิ่น โดยเฉพาะการผลิตระบบสารสนเทศตอบสนองโครงการต้นแบบสามเหลี่ยมเศรษฐกิจชายแดนใต้
 

  

วันเสาร์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

แลกเปลี่ยนประสบการณ์การเข้าร่วมงาน Education ICT forum 2017

ระหว่างวันที่ 26-27 เมษายน 2560 ที่ผ่านมา มีโอกาสได้เข้าร่วมงาน Education ICT Forum 2017 (http://educationictforum.com) ซึ่งในปีนี้กำหนด Theme ของการจัดงานคือ How To Reform Education System to Accelerate Thailand 4.0 งานจัดขึ้น ณ ห้องวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ ถ.แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ ซึ่งงานดังกล่าวจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยเจ้าภาพหลักคือกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศประเทศไทย โดยความร่วมมือและสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชน ซึ่งได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยต่างๆ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มหาวิยาลัยเทคโนโลยีมหานคร มหาวิทยาลัยสวนดุสิต มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ มหาวิยาลัยราชภัฏจันทรเกษฒ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม เป็นต้น
     ในพิธีเปิดงานได้รับเกียรติจาก ดร.พิเชษฐ์ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งให้ประเด็นคิดที่สำคัญหลายๆ ประการ โดยเฉพาะการดำเนินงานของรัฐบาลในการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานด้านไอซีทีเพื่อรองรับการพัฒนาประเทศสู่ ประเทศไทย 4.0 ในระยะ 20 ปีข้างหน้าตามยุทธศาสตร์ พ.ศ. 2560-2579 แต่ที่สำคัญคือ การพัฒนาศักยภาพของคนให้สามารถรองรับการพัฒนาในอนาคตที่เน้นการใช้เทคโนโลยี ซึ่งภาคการศึกษาโดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการ หน่วยงานรับผิดชอบการจัดการศึกษาทุกระดับของชาติ รวมทั้งการดูแลกลุ่มผู้สูงอายุซึ่งจะเป็นกลุ่มสำคัญในสังคมในอนาคตด้วย

 

 



  ประเด็นและสาระสำคัญที่ได้จากการเข้าร่วมสัมมนาที่นำมาแลกเปลี่ยนกันที่น่าสนใจ มีดังนี้
  • การปรับตัวของอุดมศึกษาไทย ทำอย่างไรที่จะรองรับการพัฒนาวิสัยทัศน์ชาติ "มั่งคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" สู่ "ประเทศไทย 4.0" ด้วยวิกฤติคุณภาพการศึกษา คุณภาพบัณฑิตไทยที่ยังไม่ตอบสนองและสนับสนุนการพัฒนาไปสู่ประเทศไทย 4.0 หรือประเทศไทย 4.0 ที่มุ่งเน้นการพัฒนาความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ คิดประดิษฐ์นวัตกรรม การสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยใช้บริบทของเทคโนโลยีของโลกที่ปรัลเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว 
  • การจัดการศึกษาที่เป็นแนวทางสนับสนุน Thailand 4.0 ที่สำคัญคือ ต้องปฏิรูปกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ เน้น Active Learning ตัวอย่างเช่น การใช้ STEM (Science, Technology, Engineer, Mathematic) เป็นแนวทางในการจัดการเรียนรู้  การพัฒนาโรงเรียนไปสู่  Innovative School ซึ่งจะเป็นรูปแบบที่ต่างปัจจุบัน เป็นต้น
  • ผลกระทบด้านการศึกษาของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ผู้เรียนเป็นผู้เลือกในสิ่งที่สนใจและอยากเรียนรู้ เช่น เทคโนโลยีการจัดการเรียนรู้แบบเปิดสำหรับผู้สนใจเรียนกลุ่มใหญ่แบบออนไลน์ ที่สามารถสมัครเข้าเรียนได้จากทั่วโลก เรียนกับผู้สอนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขา/วิชานั้นๆ จากอาจารย์ในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงระดับโลก หรือจากผู้เชี่ยวชาญมืออาชีพ เมื่อเรียนเสร็จได้ในใบรับรองคุณวุฒิ ที่เรียกว่าระบบการเรียนการสอนแบบ MOOC (Massive Open Online Course) เช่น Edx (https://www.edx.org) Saylor (https://www.saylor.org) Coursera (https://www.coursera.org) Khan Academy (https://www.khanacademy.org) เป็นต้น ซึ่งนวัตกรรมการเรียนรู้เหล่านี้ จะตอบสนองกับผู้เรียนยุค Gen Y หรือ Gen i ที่ต้องการเรียนรู้ในสิ่งที่ต้องการรู้และนำไปใช้ได้จริงๆ เรียนรู้กับผู้เชี่ยวชาญ มีประสบการณ์ มีชื่อเสียงระดับโลก ทำให้การจัดการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยในรูปแบบปกติ ต้องนำไปพิจารณาถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้กับระบบการเรียนการสอนในหลักสูตรปกติของมหาวิทยาลัย

   จากสาระสำคัญที่ได้จากการเข้าร่วมประชุมสัมมนาครั้งนี้ ลองสืบค้นในอินเทอร์เน็ตเกี่ยวกับแนวคิดที่นักการศึกษาไทยนำเสนอเกี่ยวกับ Education 4.0 ที่จะรองรับแนวคิด Thailand 4.0 ก็พบว่าท่าน ศ.ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ ได้นำเสนอสไลด์บรรยายเรื่อง การเรียนรู้สู่อนาคต: ความท้าทายในศตวรรษที่ 21 ไว้ อย่างน่าสนใจ  ท่านที่สนใจลองศึกษาเพิ่มเติมดู เพื่อเป็นแนวทางในการปรับตัวของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการศึกษาโดยตรง ทั้งเป็นผู้สอนและผู้กำหนดนโยบายขององค์กรด้านการศึกษา โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยไทย ที่นวัตกรรมเหล่านี้ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยไทยอย่างแน่นอนในอนาคตอันใกล้นี้

เอกสารอ่านเพิ่มเติม:


หมายเหตุ: ต้นฉบับเผยแพร่ที่  http://sirichai.yru.ac.th/2017/04/education-ict-forum-2017.html

วันพุธที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

การพัฒนาทักษะการสื่อสาร ทักษะการเขียน ทักษะการสรุปความด้วยเว็บบล็อก

[ชุมชนการเรียนรู้ใน Google+]
บทบาทของผู้สอนสำหรับผู้เรียนยุค Gen i (Internet Generation) ในปัจจุบันนี้และในอนาคตข้างหน้า จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับเปลี่ยนบทบาทจากผู้สอนเป็นศูนย์กลางการให้ความรู้ การสอน (Instruction) มาเป็นผู้ที่ออกแบบและสร้างสถานการณ์การเรียนรู้ ที่สอดคล้องกับสถานการณ์ในโลกความเป็นจริง มีบทบาทเป็นที่ปรึกษา เป็นผู้เสนอแนะข้อมูลและสารสนเทศที่ผู้เรียนนำไปช่วยในการตัดสินใจ นำไปประยุกต์ใช้ประโยชน์ให้เหมาะสม สอดคล้องกับความสนใจและความถนัดของตนเอง แต่ที่สำคัญจะต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ เรียนรู้จากการลงมือทำ (Learning by Doing) ให้มากที่สุด โดยเฉพาะการสร้างทักษะการสรรค์สร้างผลงาน การสื่อสารและนำเสนอผ่านโลกอินเทอร์เน็ต ที่เน้นให้ผู้เรียนเป็นผู้สร้าง ผู้สร้างสรรค์ มากกว่าการให้ผู้เรียนเป็นผู้เสพฝ่ายเดียว ผู้สอนควรสร้างแรงบันดาลใจ ด้วยโจทย์หรืองานที่ท้าทายแก่ผู้เรียน ที่สำคัญไม่ดูแคลนความสามารถของลูกศิษย์หรือผู้เรียน เพราะแหล่งเรียนรู้ ความรู้ ทุกสิ่งทุกอย่างในปัจจุบัน ผู้เรียนสามารถค้นหาและพบได้ในโลกอินเทอร์เน็ต หรือกล่าวได้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ในโลกอินเทอร์เน็ต หรือที่เรียกว่า Internet of Things: IoTs ได้ทั้งสิ้น (โปรดอ่านเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ http://oho.ipst.ac.th/internet-of-things)


    จากประสบการณ์การจัดการเรียนรู้ในรายวิชาการจัดการสารสนเทศด้านการศึกษา ในหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต (ค.บ. 5 ปี) สาขาคอมพิวเตอร์ศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา หรือ มรย. (http://www.yru.ac.th) ในรายละเอียดวิชา (มคอ.3) ได้มีการกำหนดผลการเรียนรู้ในด้านที่ 5 ไว้ คือด้านทักษะการวิเคราะห์เชิงตัวเลข การสื่อสาร และการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศไว้ ได้แก่ (1) วิเคราะห์สรุปความคิดรวบยอด เกี่ยวกับศาสตร์ด้านคอมพิวเตอร์ (2) ความสามารถใน
 การสื่อสาร มีทักษะการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการสืบค้นข้อมูลเพื่อการแสวงหาความรู้ และการนำเสนอได้อย่างเหมาะสม ซึ่งผู้สอนได้กำหนดวิธีการประเมินผลจากการพัฒนาเว็บบล็อกจัดการความรู้ สรุปความรู้ที่ได้จากการเรียนรู้แต่ละครั้งจากทั้งผู้สอนและเพื่อนร่วมกลุ่ม เพื่อนร่วมชั้นเรียน นำเสนอผ่านเว็บบล็อกของผู้เรียนเอง ซึ่งพัฒนาด้วย Blogger (http://www.blogger.com) โดยมหาวิทยาลัยฯ ทำ MoU กับบริษัท Google ในการใช้ Google App for Education เป็นเครื่องมือจัดการเรียนรู้ ผลงานที่นักศึกษาที่ลงทะเบียนเรียนในรายวิชา จำนวน 30 คน ได้พัฒนาเว็บบล็อก นำเสนอผลการเรียนรู้ที่ได้จากการเรียนรู้แต่ละครั้ง รวมทั้งนำเสนอกิจกรรมของการทำงานมอบหมายการทำโครงการ (Project) ของทีม ซึ่งใช้ Project-based Learning: PjBl เป็นกิจกรรมสำคัญของการเรียนรู้ในรายวิชา ซึ่งข้อสังเกตของผู้สอนจากการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ทั้งในและนอกห้องเรียน ทำให้ผู้เรียนเกิดความกระตือรือร้น แต่ละคนสามารถสร้างผลงานเว็บบล็อก ตกแต่งและสรรค์สร้างวิธีการนำเสนอ รวมทั้งการแชร์เว็บบล็อกของตนเองให้แก่ผู้สอนและผู้เรียนคนอื่นๆ ในชุมชน Google+ ซึ่งมีรุ่นพี่ที่เคยลงทะเบียนเรียนในรายวิชานี้เป็นสมาชิกชุมชนด้วย ที่สำคัญการสะสมองค์ความรู้ รวมทั้งประวัติของผู้เรียนในเว็บบล็อกตนเอง จะเป็นประโยชน์ต่อการนำกลับมาใช้ในอนาคน
    ต่อไปนี้ เป็นตัวอย่างผลการพัฒนาเว็บบล็อกของผู้เรียน ซึ่งอาจเป็นแนวทางในการจัดการเรียนรู้ในรายวิชาอื่นๆ (หรืออาจใช้เป็นเครื่องมือพัฒนาผู้เรียนในหลักสูตรตลอดระยะเวลา 4-5 ปี ทั้งนี้ ผู้สอนจะต้องตกลงกันในหลักสูตร) ซึ่งเห็นว่าการใช้เว็บบล็อกในการจัดการเรียนรู้ร่วมกับระบบอีเลิร์นนิ่ง ร่วมกับเครื่องมือ Socail Media หรือการจัดการเรียนรู้ในชั้นเรียนปกติ สามารถสร้างทักษะต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการลงมือทำของผู้เรียนได้ เช่น ทักษะการสื่อสาร การนำเสนอ ทักษะการใช้ไอซีทีในฐานะเป็นผู้สร้างสรรค์ผลงาน ที่สำคัญคือทักษะการสรุปสาระการเรียนรู้จากการฟัง การอ่านเอกสารประกอบการสอนในแต่ละครั้ง สามารถนำเสนอในเว็บบล็อกของตนเอง เป็นการสร้างทักษะการฟัง การคิด การวิเคราะห์ การเขียน การนำเสนอในสื่อสังคมออนไลน์อย่างเป็นระบบ ที่สำคัญอย่างยิ่ง เป็นการสร้างลักษณะนิสัยสำคัญคือ ความรับผิดชอบต่อตนเอง การฝึกลักษณะนิสัยการตรงต่อเวลา ความขยันหมั่นเพียร ได้อีกด้วย ดังนั้น จึงขอยกตัวอย่างผลการพัฒนาเว็บบล็อกของผู้เรียนในรายวิชา ดังนี้