วันเสาร์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

แลกเปลี่ยนประสบการณ์การเข้าร่วมงาน Education ICT forum 2017

ระหว่างวันที่ 26-27 เมษายน 2560 ที่ผ่านมา มีโอกาสได้เข้าร่วมงาน Education ICT Forum 2017 (http://educationictforum.com) ซึ่งในปีนี้กำหนด Theme ของการจัดงานคือ How To Reform Education System to Accelerate Thailand 4.0 งานจัดขึ้น ณ ห้องวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ ถ.แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ ซึ่งงานดังกล่าวจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยเจ้าภาพหลักคือกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศประเทศไทย โดยความร่วมมือและสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชน ซึ่งได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยต่างๆ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มหาวิยาลัยเทคโนโลยีมหานคร มหาวิทยาลัยสวนดุสิต มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ มหาวิยาลัยราชภัฏจันทรเกษฒ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม เป็นต้น
     ในพิธีเปิดงานได้รับเกียรติจาก ดร.พิเชษฐ์ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งให้ประเด็นคิดที่สำคัญหลายๆ ประการ โดยเฉพาะการดำเนินงานของรัฐบาลในการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานด้านไอซีทีเพื่อรองรับการพัฒนาประเทศสู่ ประเทศไทย 4.0 ในระยะ 20 ปีข้างหน้าตามยุทธศาสตร์ พ.ศ. 2560-2579 แต่ที่สำคัญคือ การพัฒนาศักยภาพของคนให้สามารถรองรับการพัฒนาในอนาคตที่เน้นการใช้เทคโนโลยี ซึ่งภาคการศึกษาโดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการ หน่วยงานรับผิดชอบการจัดการศึกษาทุกระดับของชาติ รวมทั้งการดูแลกลุ่มผู้สูงอายุซึ่งจะเป็นกลุ่มสำคัญในสังคมในอนาคตด้วย

 

 



  ประเด็นและสาระสำคัญที่ได้จากการเข้าร่วมสัมมนาที่นำมาแลกเปลี่ยนกันที่น่าสนใจ มีดังนี้
  • การปรับตัวของอุดมศึกษาไทย ทำอย่างไรที่จะรองรับการพัฒนาวิสัยทัศน์ชาติ "มั่งคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" สู่ "ประเทศไทย 4.0" ด้วยวิกฤติคุณภาพการศึกษา คุณภาพบัณฑิตไทยที่ยังไม่ตอบสนองและสนับสนุนการพัฒนาไปสู่ประเทศไทย 4.0 หรือประเทศไทย 4.0 ที่มุ่งเน้นการพัฒนาความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ คิดประดิษฐ์นวัตกรรม การสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยใช้บริบทของเทคโนโลยีของโลกที่ปรัลเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว 
  • การจัดการศึกษาที่เป็นแนวทางสนับสนุน Thailand 4.0 ที่สำคัญคือ ต้องปฏิรูปกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ เน้น Active Learning ตัวอย่างเช่น การใช้ STEM (Science, Technology, Engineer, Mathematic) เป็นแนวทางในการจัดการเรียนรู้  การพัฒนาโรงเรียนไปสู่  Innovative School ซึ่งจะเป็นรูปแบบที่ต่างปัจจุบัน เป็นต้น
  • ผลกระทบด้านการศึกษาของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ผู้เรียนเป็นผู้เลือกในสิ่งที่สนใจและอยากเรียนรู้ เช่น เทคโนโลยีการจัดการเรียนรู้แบบเปิดสำหรับผู้สนใจเรียนกลุ่มใหญ่แบบออนไลน์ ที่สามารถสมัครเข้าเรียนได้จากทั่วโลก เรียนกับผู้สอนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขา/วิชานั้นๆ จากอาจารย์ในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงระดับโลก หรือจากผู้เชี่ยวชาญมืออาชีพ เมื่อเรียนเสร็จได้ในใบรับรองคุณวุฒิ ที่เรียกว่าระบบการเรียนการสอนแบบ MOOC (Massive Open Online Course) เช่น Edx (https://www.edx.org) Saylor (https://www.saylor.org) Coursera (https://www.coursera.org) Khan Academy (https://www.khanacademy.org) เป็นต้น ซึ่งนวัตกรรมการเรียนรู้เหล่านี้ จะตอบสนองกับผู้เรียนยุค Gen Y หรือ Gen i ที่ต้องการเรียนรู้ในสิ่งที่ต้องการรู้และนำไปใช้ได้จริงๆ เรียนรู้กับผู้เชี่ยวชาญ มีประสบการณ์ มีชื่อเสียงระดับโลก ทำให้การจัดการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยในรูปแบบปกติ ต้องนำไปพิจารณาถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้กับระบบการเรียนการสอนในหลักสูตรปกติของมหาวิทยาลัย

   จากสาระสำคัญที่ได้จากการเข้าร่วมประชุมสัมมนาครั้งนี้ ลองสืบค้นในอินเทอร์เน็ตเกี่ยวกับแนวคิดที่นักการศึกษาไทยนำเสนอเกี่ยวกับ Education 4.0 ที่จะรองรับแนวคิด Thailand 4.0 ก็พบว่าท่าน ศ.ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ ได้นำเสนอสไลด์บรรยายเรื่อง การเรียนรู้สู่อนาคต: ความท้าทายในศตวรรษที่ 21 ไว้ อย่างน่าสนใจ  ท่านที่สนใจลองศึกษาเพิ่มเติมดู เพื่อเป็นแนวทางในการปรับตัวของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการศึกษาโดยตรง ทั้งเป็นผู้สอนและผู้กำหนดนโยบายขององค์กรด้านการศึกษา โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยไทย ที่นวัตกรรมเหล่านี้ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยไทยอย่างแน่นอนในอนาคตอันใกล้นี้

เอกสารอ่านเพิ่มเติม:


หมายเหตุ: ต้นฉบับเผยแพร่ที่  http://sirichai.yru.ac.th/2017/04/education-ict-forum-2017.html