วันอังคารที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2561

LEAN: กระบวนการพัฒนาที่ผอมเพรียว ไหล ลื่น ไม่มีงานค้าง รับประกันเสร็จทันเวลา

     นโยบายและยุทธศาสตร์การบริหาร มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ตาม แผนยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาเพื่อการยกระดับมาตรฐานสู่ความเป็นเลิศ ระยะ 10 ปี (พ.ศ. 2560-2569) ในประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 5 ปฏิรูประบบบริหารจัดการมหาวิทยาลัยให้มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ทันต่อการเปลี่ยนแปลง และใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร  ตัวชี้วัดสำคัญของยุทธศาสตร์นี้ อาทิเช่น ระดับความพึงพอใจการให้บริการอยู่ในระดับดี ร้อยละ 90 ขึ้นไป  จำนวนต้นแบบการบริหารจัดการสภาพแวดล้อม พลังงาน จัดการขยะ สู่มหาวิทยาลัยสีเขียว (Green University) มหาวิทยาลัยฯ ได้ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาความรู้และทักษะของผู้บริหารและบุคลากรหน่วยสนับสนุน เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานและยกระดับคุณภาพการให้บริการเพื่อสร้างความพึงพอใจแก่ลูกค้าหรือผู้รับบริการ

     วันที่ 30-31 มกราคม 2561 ณ โรงแรมไดอิชิ หาดใหญ่ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา โดยคณะผู้บริหารและบุคลากรสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ และผู้บริหารจากสำนักงานอธิการบดี อบรมปฏิบัติการเรื่อง การดำเนินงานตามระบบ LEAN โดยได้รับเกียรติจากวิทยากร คือ รศ.นพ.ธวัช ชาญชญานนท์ รองคณบดีฝ่ายคุณภาพ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ และคณะ ซึ่งมีความรู้และประสบการณ์ในการพัฒนาระบบปฏิบัติงานและการให้บริการของคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่จนเป็นที่ยอมรับในด้านการพัฒนาคุณภาพการให้บริการอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด
    สำหรับเป้าหมายในการอบรมปฏิบัติการครั้งนี้ ในอนาคตระยะใกล้ 3-6 เดือนนี้  มหาวิทยาลัยกำหนดเป้าหมายให้หน่วยงานระดับงาน (ที่มีบุคลากรเข้ารับการอบรมในครั้งนี้) ในแต่ละกอง จะต้องนำความรู้ ประสบการณ์เสนอโครงการ/กิจกรรมพัฒนากระบวนการ (Process) งานที่วิกฤต งานที่มีปัญหา หรืองานที่ต้องการพัฒนาคุณภาพหรือมูลค่าของผลิตภัณฑ์ (Product) เพื่อสร้างความสุขใจ (มากกว่าความพึงพอใจ) ให้กับลูกค้า และลูกค้าอยากกลับมาใช้บริการของมหาวิทยาลัยใหม่)  โดยให้มีการพัฒนาโดยใช้กระบวนการพัฒนางานตามขั้นตอนของระบบ LEAN  มีการประเมินผลการพัฒนาและรายงานผลต่อผู้บริหาร รวมทั้งมีกิจกรรมการประกวดแข่งขันการพัฒนาคุณภาพกระบวนการทำงานโดยใช้ระบบ LEAN ต่อไป
    นอกจากนั้น ผลการพัฒนาระบบงานด้วย LEAN ยังจะได้รับการส่งเสริมให้เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาผลงานเชิงวิเคราะห์ สังเคราะห์ และมีการนำไปประยุกต์ใช้ มีการติดตามประเมินผลเชิงประจักษ์ ซึ่งจะเป็นแนวทางในการพัฒนาผลงานประกอบการส่งผลงานเพื่อพิจารณาการเลื่อนตำแหน่งที่สูงขึ้นในสายวิชาชีพต่อไป

ข้อมูลเพิ่มเติม