วันศุกร์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2562

เตรียมการจัดเวทีการจัดการความรู้ KM YRU Forum 2018 ประจำปีการศึกษา 2561

  การจัดการความรู้ (Knowledge Managment: KM) นับเป็นปัญหาและอุปสรรคของแทบทุกองค์กร  มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา จึงได้จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในระดับมหาวิทยาลัย ระหว่างส่วนราชการภายในเป็นประจำทุกปี เพื่อให้ผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากร นักศึกษา ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ นำเสนอผลงานจากการจัดการความรู้ของหน่วยงาน เรียกว่า  KM YRU Forum ขึ้นเป็นประจำทุกปี
   สำหรับผลการดำเนินงานด้านการจัดการความรู้ของส่วนราชการภายใน ประจำปีการศึกษา 2561 ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยฯ โดยสำนักงานประกันคุณภาพ (http://president.yru.ac.th/qa/web) ในฐานะหน่วยรับผิดชอบพัฒนาระบบกลไกสนับสนุนการจัดการความรู้ จะจัดเวที KM YRU Forum 2018 ขึ้นในวันที่ 18 มิถุนายน 2562 นี้ 
     สำหรับการกำหนดประเด็นเพื่อการจัดการความรู้ที่นำเสนอแลกเปลี่ยนในเวทีใน 3 ประเด็น ได้แก่
(1) ประเด็นการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning   (2) ประเด็นการบริหารจัดการงานวิจัย  และ (3)
การบริหารองค์กรโดยใช้ไอซีที  ทั้ง 3 ประเด็น มีบุคลากรจากส่วนราชการต่าง ๆ ส่งผลงาน KM เข้าร่วมนำเสนอไม่น้อยกว่า 30 เรื่อง

  
  

วันอังคารที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2562

การพัฒนาบทความวิจัยเพื่อการตีพิมพ์: การบริการวิชาการรับใช้สังคม

ประสบการณ์จากการเข้าร่วมอบรมปฏิบัติการที่ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา โดยสถาบันวิจัและพัฒนาชายแดนใต้ (สวพ.) จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ "การพัฒนาบทความวิจัยเพื่อการตีพิมพ์"  ระหว่างวันที่ 9-10 มิถุนายน 2562  ณ โรงแรม บีพี สมิหลา บีช สงขลา จ.สงขลา  ความรู้และประสบการณ์ มีสาระสำคัญที่เป็นปัญหาในการเขียนบทความวิชาการหรือวิจัยเพื่อตีพิมพ์ ท่านวิทยากร  รศ.ดร.ชิตณรงค์ ศิริสถิตย์กุล  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เยาวเรศ ศิริสถิตย์กุล ได้นำเสนอว่าต้องสกัด 24 จุดตาย ที่ทำให้บทความไม่ได้ตีพิมพ์   เนื่องจากปัญหาสำคัญที่ทำให้บทความไม่ได้ตีพิมพ์ ได้แก่
  1. ขาดวินัย ไม่มีวันได้ส่ง มีผลงานแต่ขาดวินัย ผู้เขียนไม่สามารถควบคุมเวลาได้ บทความจึงไม่เสร็จ ส่งตีพิมพ์ไม่ได้
  2. งานซ้ำชาวบ้าน ขาดความแปลกใหม่ ไร้ความคิดสร้างสรรค์  งานต้องมีจุดเด่น เป็นงานใหม่ ถึงแม้ว่าทักษะการเขียนภาษาอังกฤษบทความตีพิมพ์นานาชาติไม่ดีพอ แต่บรรณาธิการวารสารนานาชาติ มักจะให้โอกาสถ้าเป็นประเด็นใหม่ ๆ
  3. หนีตัวเองไม่พ้น ย่ำอยู่กับที่ เนื่องจากขาดการผลิตผลงานที่ต่อเนื่อง จึงไม่มีผลงานตีพิมพ์
  4. วางโครงสร้างบทความไม่เหมาะสม ทำให้ขาดจุดเด่น ไม่เป็นไปตามรูปแบบของวารสาร
  5. พลาดโอกาส ขาดการเน้นจุดเด่นของงาน บรรณาธิการของวารสารพยายามจะมองหาจุดเด่น (Highlight) ผู้ผลิตผลงานจะต้องรู้ จุดเด่นของงานคืออะไร
  6. ขาดเอกภาพ มีผลงานมาก รายละเอียดมาก ไม่สามารถผสมผสานส่วนต่าง ๆ จนมีความหนักแน่นทางวิชาการได้  การพยายามใส่ทุกอย่างในบทความ จนขาดเอกภาพ 
  7. สไตล์การเขียน ทักษะการใช้ภาษาและการนำเสนอไม่เหมาะสม ก็เป็นอุปสรรคของการตีพิมพ์
  8. มาแบบรายงาน  (มีรายละเอียดมาก การเล่าเรื่องทั้งหมด) จะมีโอกาสตีพิมพ์ ถ้าสามารถปรับเป็นการเขียนให้เห็นกระบวนการวิจัยและผลวิจัย
  9. บทความนานาชาติ เขียนประโยคชนประโยค ขาดเชื่อมโยงเหตุและผล ทำให้ขาดเอกภาพ
  10. นำเสนอประเด็นยาก ซับซ้อน ไม่ชัดเจน จะต้องเขียนให้อ่านง่าย และมีน้ำหนัก คำนึงถึงผู้อ่านที่ไม่ใช่นักวิจัย สามารถเข้าใจ 
  11. รู้จักวารสารแหล่งตีพิมพ์น้อย แล้วส่งไปผิดที่ (ไม่ใช่จุดเน้นของวารสาร) ก็จะไม่ได้รับการตอบรับ โดยเฉพาะการอ้างอิงบรรณานุกรมช่วงท้าย จะต้องหาแหล่งอ้างอิง ผู้วิจัยต้องรู้จักแหล่งวารสาร เช่น วารสารในฐาน Scopus มีมากกว่า 30,000 วารสาร  หรือวารสารในฐานข้อมูล ISI  เพื่อเป็นโอกาสในการส่งบทความวิชาการ
  12. ผิดพลาด บกพร่องในการพิมพ์ เช่น ภาพ ตาราง บรรณานุกรม ทำให้ผลงานไม่ได้รับการตอบรับ ควรให้ความสำคัญอย่างมาก
  13. ไม่ให้ความสำคัญกับวารสาร แต่เพลินไปกับ Conference ควรส่งเสริมให้นักวิจัยส่งผลงานตีพิมพ์ในวารสารมากกว่าการ Conference Proceeding เพราะมีผลกระทบ (Impact) มีผลต่อการประเมินผลงานของมหาวิทยาลัยมากกว่า
  14. ละเลยผลงานที่มีมาก่อน ไม่ครอบคลุมและพิถีพิถันในการเลือก reference ต้องศึกษาประเด็นงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ควร Review อ้างอิงให้ครบถ้วน ไม่ควรค้นหาจาก Google อย่างเดียว ควรต้องใช้ฐานข้อมูล TCI, ISI, Scopus 
  15. อ้างอิงแต่งานตนเอง   แสดงถึงความใจแคบ ควรอ้างอิงบทความอื่น ๆ โดยเฉพาะผลงานในวารสารที่ตั้งใจตีพิมพ์
  16. ไม่อ้างอิงบทความ ไม่ใช้ฐานข้อมูลที่เป็นแหล่งที่มีชื่อเสียง เช่น ISI, TCI  คือ ควรอ้างอิงจากวารสาร ไม่อ้างอิงจากวิทยานิพนธ์ รายงาน หรือเว็บไซต์ทั่วไป
  17. อภิปรายผลไม่ทันยุคสมัย  ถึงแม้งานวิจัยเก่า แต่ควรอภิปรายผลให้ทันยุคทันสมัย โดยการอ้างอิงในผลและการอภิปรายผลด้วย บรรณาธิการวารสารจะพิจารณาการอภิปรายผลเป็นประเด็นสำคัญ  
  18. Suggeest referee ผิด กรณีวารสารให้โอกาสเสนอ Peer Review ให้เสนอให้เหมาะสม ไม่ควรมีความใกล้ชิดกัน หรือผู้เชี่ยวชาญระดับโลกเพราะมักจะมีปัญหาเรื่องเวลาของผู้เชี่ยวชาญ ควรเสนอผู้ที่มีผลงานเกี่ยวข้องกับงานของเรา โดยการสืบค้นจากวารสารที่เกี่ยวข้อง
  19. หมกเม็ด ลักไก่ ไม่แก้  กรณีได้รับโอกาสแก้ไข ขอให้ใช้โอกาสในการแก้ไขอย่างเต็มที่ พยายามแก้ไขอย่างระเอียดรอบคอบ
  20. แข็งข้อกับบรรณาธิการ ควรให้เกียรติกองบรรณาธิการ ควรแสดงความพยายามในการปรับแก้ให้เต็มที่
  21. อ่านน้อยเกินไป การอ่านน้อยเกินไป ทำให้มองไม่เห็นลู่ทางในการเขียน ความรู้และประสบการณ์ การอ่าน จะนำมาใช้ในการเขียนที่มีคุณภาพ
  22. ก่อนส่ง คนเขียนเองไม่ได้อ่าน (ถ้าอ่านจะรู้สึกว่าไม่เข้าท่า)  เพื่อทบทวน หรือส่งให้กับผู้เขียนร่วม เพื่อช่วยอ่านก่อนส่ง เพื่อตรวจสอบความสมบูรณ์
  23. ขาดความสุขในการเขียน  อาจต้องพยายามส่งและมีความสำเร็จในการตีพิมพ์ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการผลิตงานเพื่อตีพิมพ์ต่อ
  24. ผิดจริยธรรมการเผยแพร่ในบริบทปัจจุบัน ทำให้ไม่ประสบความสำเร็จในการตีพิมพ์


 

 

 

  

นอกจากนั้น วิทยากรยังเสริมเทคนิคการสืบค้น การใช้ฐานข้อมูล เพื่อสืบค้นบทความสำหรับการเขียน
บทความและวารสารระดับชาติหรือนานาชาติ  การเตรียมต้นฉบับเพื่อการตีพิมพ์ในวารสารวิจัย จึงนำความรู้และประสบการณ์มาถ่ายทอดไว้เพื่อประโยชน์แก่นักวิจัยต่อไป
  • เทคนิคการใช้ฐานข้อมูลเสริมการเขียนบทความ เช่น การค้นหาบทความวิจัยใน TCI
    tci general search ที่ลิงก์  http://www.kmutt.ac.th/jif/public_html/general_search.php
  • เทคนิคการสืบค้นบทความวิจัย วิชาการจากฐานข้อมูลวารสาร Thaijo  (https://www.tci-thaijo.org) แหล่งสืบค้นบทความวิจัย บทความวิชาการจากทุกวารสาร ที่สะดวกในสืบค้นและการนำบทความมาใช้ประโยชน์ 
การประชุมปฏิบัติการครั้งนี้ เป็นการใช้เวลา 24 ชั่วโมง เพื่อเขียน/ปรับปรุงต้นฉบับบทความวิจัย บทความวิชาการเพื่อส่งตีพิมพ์ (Submission) ในวารสารวิชาการเป้าหมายที่ผู้เขียนแต่ละคน ใน 24 ชั่วโมง มีผู้สามารถส่งบทความตีพิมพ์ในระบบออนไลน์ของวารสารทั้งในและต่างประเทศได้ในเวลา จำนวน 4 บทความ ที่เหลือมีความก้าวหน้าร้อยละ 70-90% และจะสามารถส่งบทความเพื่อให้วารสารพิจารณาตีพิมพ์ได้ภายใน 1 เดือน  นับเป็นกิจกรรมอบรมปฏิบัติการที่มีประโยชน์ และเห็นผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม และทำให้ผู้เข้าอบรมต้องลงมือทำเป็น แสดงบทบาทเป็น Active Leaarner ตลอดเวลา