วันพุธที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2561

เทคนิคการวิเคราะห์ แก้ไขปัญหา และการตัดสินใจในสถานการณ์ที่ซับซ้อน

     เทคนิคการวิเคราะห์ แก้ไขปัญหา และการตัดสินใจในสถานการณ์ที่ซับซ้อน เป็นความรู้ที่ได้มาจากการเข้าร่วม โครงการฝึกอบรมหลักสูตร “การบริหารงานอุดมศึกษา ระดับกลาง” ระหว่างวันที่ 27 สิงหาคม – 13 กันยายน 2561 ณ โรงแรมบีพีแกรนด์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา จัดโดยสำนักสิริพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) โดยมีวิทยากร คือ คุณพัฒนชัย กุลสิริสวัสดิ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบริษัท ชัยบูรณ์บราเดอร์ส
      เนื้อหาประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก ได้แก่ 1) การวิเคราะห์และแก้ไขปัญหา 2) การตัดสินใจในสถานการณ์ที่ซับซ้อน ปัญหาคือความต่างระหว่างความจริงกับสิ่งที่คาดหวัง พื้นฐานในการวิเคราะห์ปัญหาเริ่มต้นด้วย อริยสัจสี่(กลไกแห่งการดับทุกข์) ซึ่งประกอบด้วย ทุกข์(ปัญหา) สมุทัย(สาเหตุ) นิโรธ และมรรค การหาสาเหตุสามารถใช้เทคนิค Why Why Analysis หรือ Cause & Effect Diagram ในการวิเคราะห์ได้ ต้องหาให้พบถึงสาเหตุสุดท้ายที่เกิดจากการปฏิบัติงาน สาเหตุมักมีหลายประเด็นซึ่งต้องคัดกรองเฉพาะสาเหตุที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดในการแก้ไข จากนั้นจึงนำสาเหตุที่เหลือมาจัดลำดับความสำคัญด้วยวิธี Pareto หรือ จัดอับดับแบบ 0/1 (เป็นการเปรียบเทียบสาเหตุเป็นคู่ๆ ว่าสาเหตุใดสำคัญว่ากัน)
     เมื่อได้สาเหตุที่จะนำมาแก้ไขแล้ว การดำเนินการขั้นตอนถัดไปเป็นการใช้แนวคิด PDCA เริ่มด้วยการวางแผน (Plan) เพื่อกำหนดมาตรการแก้ไขสาเหตุตามลำดับความสำคัญด้วยหลัก 5W2H และพิจารณามาตรการดังกล่าวด้วยพิจารณา Confirm(ยืนยันว่าทำได้), Conflict(ทำแล้วจะเกิดความขัดแย้งหรือไม่), Continuous(สามารถทำได้อย่างต่อเนื่องหรือไม่) และ Concrete(จับต้องและมีความเป็นไปได้) ขั้นตอนถัดไปคือการดำเนินการตามมาตรการที่ได้วางไว้ (Do) แล้วจึงทำการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผล (Check) โดยเปรียบเทียบ Before/After หรือใช้แผนผังการควบคุม (Control chart) ขั้นตอนสุดท้ายคือการ Action จากผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น หากสามารถแก้ไขปัญหาได้ให้กำหนดเป็นมาตรฐานด้วยการจัดทำเป็นคู่มือการปฏิบัติงานที่เรียกว่า QP(Quality Procedure) หรือ WI(Work Instruction)
     การแก้ไขปัญหาแบ่งได้เป็น 4 ประเภท ได้แก่ Reactive(เกิดแล้วแก้), Inactive(ทำไปแก้ไป), Pre-active(ป้องกันก่อนเกิด) and Proactive(จินตนาการว่าอะไรจะเกิดขึ้นบ้างแล้วหาทางป้องกัน) ในส่วนของการแก้ไขปัญหา 2 ประเภทหลัง คือ Pre-active และ Proactive นั้น เป็นการแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งต้องใช้การตัดสินใจ (Decision) มีความหมายว่า การเลือกทางที่ดีที่สุดจากทางเลือกที่มีอยู่เพื่อให้เกิดผลในการปฏิบัติสูงสุด การตัดสินใจแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ 1) การตัดสินใจการวางแผน(ล่วงหน้า) ซึ่งมักมีข้อมูลและเวลาที่เพียงพอในการตัดสินใจ และ 2) การตัดสินใจที่เป็นไปตามสถานการณ์(เร่งด่วน) ข้อมูลและเวลาที่มีมักจะน้อย ดังนั้นจึงควรให้ความสำคัญกับความถูกต้องของข้อมูลให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
     ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาหรือการตัดสินใจล้วนมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ การรักษาและยกระดับคุณภาพ เพื่อความพึงพอใจของลูกค้าทั้งภายในและภายนอกองค์กรเป็นสำคัญ สิ่งที่ทุกคนในองค์กรควรทำความเข้าใจตรงกันคือ ทุกการแก้ไขและการตัดสินใจนั้นมักจะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงไม่มากก็น้อย การสื่อสารด้วยวิธีการที่เหมาะสมและเพียงพอของผู้บริหาร จะช่วยปรับความรู้ ความเข้าใจ และทัศนคติที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงนั้นได้ จนทำให้คนในองค์กรเกิดการยอมรับและให้ความร่วมมือต่อการดำเนินการต่างๆ เพื่อพัฒนาองค์กรให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

วันเสาร์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2561

การบริหารจัดการแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์และการมีส่วนร่วม (Results-Based Management : RBM)


      ตลอดเวลาการอบรมหลักสูตรตาม โครงการฝึกอบรมหลักสูตร “การบริหารงานอุดมศึกษา ระดับกลาง” ระหว่างวันที่ 27 สิงหาคม – 13 กันยายน 2561 ณ โรงแรมบีพีแกรนด์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา รวมจำนวน 93 ชั่วโมง เป็นหลักสูตร "การบริหารงานอุดมศึกษาระดับกลาง" ของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ซึ่งบริหารจัดการหลักสูตรและอำนวยการฝึกอบรมโดยสำนักสิริพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) โอกาสนี้ต้องขอขอบคุณทางมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ที่ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญกับบุคลากรสายสนับสนุนในการอบรมเพื่อรับองค์ความรู้ทางด้านการบริหารจัดการ การอบรมครั้งนี้ จะเป็นการอบรมที่ถ่ายทอดองค์ความรู้จากวิทยากรที่ทรงคุณวุฒิ ประมาณ 22 ท่าน ซึ่งจะมีกระบวนรายวิชาทั้งสิ้น 24 วิชา 1 ศึกษาดูงาน และ 1 รายงานกลุ่ม รวมถึงการสกัดประเด็นความรู้ตามที่ได้รับมอบหมาย
       องค์ความรู้ที่ได้รับจากการอบรมถือเป็นองค์ความรู้ที่น่าสนใจและมีส่วนสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนองค์กรให้เกิดความยั่งยืน และบรรลุเป้าประสงค์ของยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาได้ต่อไปในอนาคต ทุกกระบวนรายวิชาเป็นองค์ความรู้ที่สำคัญต่อการปรับประยุกต์ใช้กับการบริหารจัดการองค์กรสู่อาชีพได้อย่างยั่งยื่น วิทยากรได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ รวมถึงถ่ายทอดประสบการณ์และนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับบุคลากรที่เข้าร่วมอบรมได้เป็นอย่างดี
       การบริหารจัดการแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์และมีส่วนร่วม (Results-Based Management : RBM) เป็นกระบวนรายวิชาที่มี อาจารย์ญาดา ดาวพลังพรหม อดีตนักทรัพยากรบุคคลเชี่ยวชาญ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน เป็นวิทยากรถ่ายทอดองค์ความรู้ วิชานี้เป็นหนึ่งกระบวนรายวิชาที่น่าสนใจที่จะสามารถนำปรับประยุกต์ใช้กับการบริหารงานจัดการองค์กรได้อย่างมีประสิทธิผล ซึ่งการบริหารจัดการแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์และมีส่วนร่วม คือ วิธีการบริหารที่มุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์หรือผลการปฏิบัติงานเป็นหลัก โดยมีการวัดผลการปฏิบัติงานด้วยตัวชี้วัดอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ ทำให้ผู้บริหารทราบผลความก้าวหน้าของการดำเนินงานเป็นระยะๆ และสามารถแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงทีเป็นการควบคุมทิศทาง การดำเนินงานให้มุ่งสู่วิสัยทัศน์ของหน่วยงาน การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ให้บรรลุจะต้องอาศัยเครื่องมือทฤษฏี ซึ่งเครื่องมือทฤษฏีดังกล่าว คือ Balanced Scorecard (BSC) เป็นเครื่องมือทางด้านการบริหารจัดการที่ช่วยในการประเมินผลองค์กรและช่วยให้องค์กรนำเอากลยุทธ์ไปปฏิบัติจริง (Strategic Implementation) โดยเริ่มต้นที่วิสัยทัศน์ ภารกิจ และกลยุทธ์ขององค์กร ซึ่งเป็นขั้นของการกำหนดปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จ และจากนั้นก็เป็นการสร้างดัชนีวัดผลสำเร็จ (Key Performance Indicators: KPI) ขึ้นเพื่อเป็นตัวบ่งชี้ถึงเป้าหมายและใช้วัดผลการดำเนินงานในส่วนที่สำคัญต่อกลยุทธ์
     ดังนั้น จากการอบรมและได้องค์ความรู้จากท่านวิทยากรจะสามารถนำหลักการบริหารจัดการแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์และมีส่วนร่วม (Results-Based Management : RBM) โดยใช้เครื่องมือ Balanced Scorecard (BSC) นำมาปรับใช้ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ขององค์กรให้บรรลุเป้าประสงค์ได้อย่างยั่งยืน ส่วนจะปรับใช้อย่างไรนั้น ตรงนี้จะต้องใช้เวลาในการฝึกทบทวน และศึกษากระบวนการวิธีการนำกลยุทธิ์มาใช้ในการบริหารให้เกิดความชำนาญที่จะสามารถนำไปถ่ายทอดองค์ความรู้ให้บุคลากรต่อไป

วันอาทิตย์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2561

รวมพลังผู้บริหารและสมาชิกชาว มรย. ขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยของเราสู่ Green YRU

       มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาสนับสนุนและส่งเสริมให้คณาจารย์และนักศึกษาสาขาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม เข้าร่วมโครงการประชุม “ปฏิบัติการเพื่อสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมด้านสิส่งแวดล้อมของเยาวชนภายในมหาวิทยาลัย (Green Youth)” จัดโดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (https://www.deqp.go.th/new)  ระหว่างวันที่ 7-9 กันยายน 2561 ณ โรงแรมเอเชียแอร์พอร์ท จังหวัดปทุมธานี  นำโดย อาจารย์นิธิ พลไชย อาจารย์ประจำหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (วท.บ.) สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการเกษตร และนักศึกษาจำนวน 4 คน เข้าร่วมประชุมปฏิบัติการ ร่วมสังเกตการณ์การจัดกิจกรรม ฟังบรรยายพิเศษและการเสวนา และนำเสนอโครงการเพื่อดำเนินงานและเตรียมนำเสนอผลในปีงบประมาณปี 2562 ต่อไป
       สำหรับการเข้าร่วมกิจกรรมโครงการ “ปฏิบัติการเพื่อสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมด้านสิส่งแวดล้อมของเยาวชนภายในมหาวิทยาลัย (Green Youth)” ครั้งนี้  วันเสาร์ที่ 8 กันยายน 2561 เวลา 10.00-12.00 น. จัดให้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) ระหว่างกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และเครือข่ายมหาวิทยาลัยทั้งหมดทั่วประเทศ จำนวน 28 แห่ง เพื่อสร้างความร่วมมือในการสนับสนุนให้เยาวชนในมหาวิทยาลัยดำเนินกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมภายในมหาวิทยาลัย เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ ตระหนักเกี่ยวกับการบริโภคที่มิตรกับสิ่งแวดล้อม การจัดการของเสีย การเพิ่มพื้นที่สีเขียว โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มอบหมายให้อาจารย์ ดร.ศิริชัย นามบุรี เป็นตัวแทนมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เข้าร่วมลงนาม MoU และร่วมฟังกิจกรรมบรรยายพิเศษสำหรับการประชุมปฏิบัติการในครั้งนี้ด้วย
        สาระสำคัญจากการบรรยายพิเศษ เรื่อง ทิศทางการพัฒนาสู่การก้าวเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ปริญญา เทวานฤมิตรกุล  รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต ที่อยากนำมาฝากชาว มรย. หลายๆ ประเด็น ได้แก่  การตระหนักถึงภัยของโลกที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ ที่พลโลกต้องร่วมมือกันป้องกันและรักษาไว้ให้ยืนยาวนานที่สุด  เป้าหมายของการพัฒนาโลกอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs)  17 ด้าน ที่สหประชาชาติ  หรือ UN (https://sustainabledevelopment.un.org/sdgs) ได้กำหนดไว้  วิทยากรยังได้ชี้ให้เห็นถึงบทบาทของมหาวิทยาลัยไทย ที่ต้องเป็นเครือข่ายผู้นำการเปลี่ยนแปลงในการดูแลรักษาทรัพยากรของชาติ ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้คุ้มค่าและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ SDGs ในด้านที่เป็นบทบาทและหน้าที่ของมหาวิทยาลัย และที่สำคัญที่สุดก็คือ พลังนักศึกษาในมหาวิทยาลัย  ที่จะต้องเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยไปสู่ Green University  ทำกิจกรรมนักศึกษาเชิงสร้างสรรค์ที่สอดคล้องกับเป้าหมาย SDGs  โดยเริ่มที่ตัวนักศึกษาเอง  

      ดังนั้น วาระการขับเคลื่อนการพัฒนามหาวิทยาลัยไปสู่ Green University นับเป็นเรื่องสำคัญในการปลูกฝัง บ่มเพาะ นักศึกษาที่จะสำเร็จการศึกษาเป็นบัณฑิตออกไป ทำหน้าที่พลเมืองที่ดีของประเทศไทยและเป็นพลโลกที่ดีมีคุณภาพ  จึงนับเป็นเรื่องของทุกคนใน มรย. ที่ต้องสนใจ ใส่ใจ ตระหนัก เรียนรู้ให้เกิดความเข้าใจ ร่วมมือ ร่วมใจกัน เพื่อขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยให้เป็น Green University หรือเป็น Sustainability University ที่ได้รับการยอมรับของสังคมต่อไป
     ขณะนี้ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา กำลังดำเนินการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยไปสู่ Green YRU หรือ Green University โดยเผยแพร่กิจกรรมและองค์ความรู้ เพื่อการสื่อสารและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เป็นการจัดการความรู้อีกเวทีหนึ่งของเราชาว มรย.  โดยเผยแพร่ไว้ที่เว็บไซต์ http://greenyru.blogspot.com  ผู้สนใจติดตาม เข้าร่วมกิจกรรม และให้ข้อเสนอแนะได้ คณะกรรมการดำเนินงานยินดีนำไปเป็นแนวทางในการดำเนินงานต่อไป

อ่านเพิ่มเติม:  https://greenyru.blogspot.com/p/blog-page_16.html