วันศุกร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ประสบการณ์การแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเครือข่ายประกันคุณภาพ: มหาวิทยาเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

เมื่อ 24 มิถุนายน 2557 ที่ผ่านมา ทีมงานสำนักงานประกันคุณภาพ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา นำโดย ดร.ศิริชัย นามบุรี ซึ่งกำกับดูแลงานประกันคุณภาพของ มรย. และรักษาการผู้อำนวยการ อาจารย์สุวิมล อิสระธนาชัยกุล ผศ.สุวรรณา ศรีไตรรัตน์ คุณชลธิดา เจะมะ เจ้าหน้าที่บริหารทั่วไป และคุณฮามีดะห์ ดือราแม นักวิชาการศึกษา บุคลากรประจำสำนักงานประกันคุณภาพ  ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ด้านการบริหารงานประกันคุณภาพขององค์กร กับ ศูนย์ประกันคุณภาพการศึกษา (http://www.qa.kmutnb.ac.th) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ. http://www.kmutnb.ac.th) ซึ่งประเด็นแลกเปลี่ยนเรียนรู้มีสาระสำคัญๆ หลายประการ จึงนำมาเผยแพร่ไว้เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนางานประกันคุณภาพภายในของ มรย. และหน่วยงานภายใน ดังนี้
  • ผลการประเมินอยู่ในระดับดีมาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มีผลประเมินคุณภาพภายในรอบปีการศึกษา 2555 อยู่ในระดับดีมาก (คะแนน 4.57)  ความสำเร็จอยู่ที่การขับเคลื่อนของผู้บริหารระดับมหาวิทยาลัย คณะ/ศูนย์/สำนัก จึงส่งผลเป็นคุณภาพโดยรวมของมหาวิทยาลัย โดยผู้บริหารระดับคณะจะต้องทำคำรับรองการบริหารงานกับอธิการบดี และกำกับตัวชี้วัดโดยผู้บริหารระดับรองอธิการบดี เน้นว่าการดำเนินงานประกันคุณภาพเป็นหน้าที่ของทุกคนในองค์กร ทุกคนจะต้องมีแนวปฏิบัติแต่ละรายบุคคลที่มีคุณภาพ ร่วมกันสร้างวัฒนธรรมคุณภาพในการทำงาน การปฏิบัติงานในแต่ละวันและตลอดทั้งปีอย่างมีคุณภาพ  ทำความเข้าใจกับระบบประกันคุณภาพ ตัวชี้วัดและเกณฑ์ให้เกิดเป็นองค์ความรู้ ก็จะเป็นกรอบให้การปฏิบัติงานในหน้าที่อย่างมีเป้าหมายและมีคุณภาพตามมา และจะเกิดความภาคภูมิใจร่วมกันในองค์กร
  • ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบประกันคุณภาพ ของผู้บริหารทุกระดับจะต้องยอมรับและมีเจตคติที่ดี มีความรู้และมีทักษะในการทำงานที่สอดคล้องกับระบบประกันคุณภาพของมหาวิทยาลัย ทั้ง สกอ. (http://www.mua.go.th/users/bhes/catalog3.htm) สมศ. (http://www.onesqa.or.th/onesqa/th/home/index.php)  หรือ กพร. (เป็นกฎหมายที่หน่วยงานต้องปฏิบัติ) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารองค์กร และผู้บริหารจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบและได้รับมอบหมายให้กำกับตัวชี้วัดตามแผนปฏิบัติราชการประจำปี รวมทั้งตัวบ่งชี้ประกันคุณภาพตามกรอบภาระหน้าที่ที่เกี่ยวข้องด้วย
  • การสร้างเครือข่ายประกันคุณภาพภายใน การสร้างเครือข่ายบุคลากรหน่วยงานภายใน สร้างความเข้มแข็งให้เกิดความรู้ ทักษะในระบบประกันคุณภาพภายใน เป็นปัจจัยให้งานประกันคุณภาพภายในคณะ/ศูนย์/สำนัก เข้มแข็ง ต้องมีการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ มีโครงการให้ความรู้ และเข้าร่วมประชุมทุกครั้ง เพื่อนำไปถ่ายทอดและดำเนินงานต่อในคณะ/ศูนย์/สำนัก มีกิจกรรมสัมมนาของเครือข่ายประกันคุณภาพภายในทุกปี มีการประกวดแนวปฏิบัติที่ดี นอกจากนั้น ยังมีกิจกรรมพัฒนาบุคลากรสายสนับสนุนให้มีความรู้ความสามารถ มีทักษะด้านการตรวจประเมินคุณภาพ และสนับสนุนให้มีชื่อขึ้นบัญชีเป็นผู้ประเมินภายในของมหาวิทยาลัยและหน่วยงานภายนอก
  • การกำกับติดตาม มหาวิทยาลัยฯ มีการกำกับและติดตามผลการดำเนินงานตามตัวบ่งชี้ประกันคุณภาพรอบ 6 เดือนและ 9 เดือน นอกจากนั้น ยังมีกิจกรรม Pre-Audit ตามคำร้องขอแต่ละหน่วยงาน เพื่อลงพื้นที่ตรวจสอบและให้คำแนะนำก่อนตรวจประเมินจริง
  • ปัจจัยความสำเร็จ ที่สำคัญคือ นโยบายผู้บริหาร  ความสำเร็จของระบบประกันคุณภาพ ปัจจัยที่สำคัญที่สุดคือ นโยบายของผู้บริหารระดับสูงสุด ที่ให้ความสำคัญเอาจริงเอาจังในการกำกับ ติดตามและตรวจสอบ เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาเมื่อพบข้อบกพร่องในการดำเนินงานได้ทันเวลา
แนวปฏิบัติที่ดีข้างต้น มหาวิทยาลัยและแต่ละหน่วยงานภายใน รวมทั้งระดับหลักสูตร จะได้นำมาปรับประยุกต์ใช้กับระบบประกันคุณภาพภายในของมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาต่อไป