ความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับ เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการเตรียมการของมหาวิทยาลัยฯ คณะ และระดับหลักสูตร เพื่อรองรับการประเมินคุณภาพภายในตามตัวบ่งชี้และเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ซึ่งรับผิดชอบโดย สำนักมาตรฐานและประเมินผลอุดมศึกษา หน่วยงานในสังกัด สกอ. และจะนำมาใช้ในปีการศึกษา 2557 ที่จะถึงนี้อย่างแน่นอน (เริ่มเดือนสิงหาคม 2557 ตามกำหนดการเปิดภาคเรียนตามอาเซียน) สาระสำคัญสามารถสรุปประเด็นได้ดังนี้
- ร่างคู่มือการประกันคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษาระดับอุดมศึกษา พ.ศ.2557 ฉบับประชาพิจารณ์ เพื่อรับฟังความเห็นจากสถาบันอุดมศึกษาหรือหน่วยงานต่างๆ ที่จะถูกประเมินคุณภาพภายในตามระบบที่ สกอ. กำหนดขึ้น ทั้งนี้ เพื่อนำคู่มือฉบับจริงประกาศใช้ให้ทันภายในเดือนสิงหาคม 2557 นี้
- รายละเอียดและกรอบแนวคิดการประเมิน มีทั้งระดับหลักสูตร ระดับคณะวิชา และระดับสถาบัน (มหาวิทยาลัย)
ระดับหลักสูตร ตัวบ่งชี้ครอบคลุมถึง สัดส่วนนักศึกษาต่ออาจารย์ต่อนักศึกษา จำนวนนักศึกษา ต่ออาจารย์ (การเป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ ) ผลงานทางวิชาการ ผลงานวิจัยของอาจารย์ ความร่วมมือระหว่างสถานศึกษากับสถานประกอบการ สื่ออุปกรณ์การเรียนการสอน ห้องสมุดและแหล่งการเรียนรู้ต่างๆ การ ดำเนินการตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา คุณภาพบัณฑิตพิจารณาจาก การมีงานทำหรือประกอบอาชีพอิสระ คุณภาพผลงานตีพิมพ์และเผยแพร่ระดับบัณฑิตศึกษา
ระดับคณะวิชา ตัวบ่งชี้ควรเป็นตัวบ่งชี้ที่ประเมินการดำเนินการของคณะวิชาเพื่อสนับสนุนการ จัดการเรียนการสอนของแต่ละหลักสูตรที่คณะดูแลพิจารณาเฉพาะองค์ประกอบที่เกี่ยวข้อง โดยครอบคลุมด้านกิจกรรมนักศึกษา การให้บริการทางวิชาการ การวิจัย และการประกันคุณภาพ ระดับสถานศึกษา เป็นการประกันคุณภาพในระดับสถาบัน พิจารณาให้เป็นไปตามมาตรฐาน
สถาบัน (มหาวิทยาลัย) ซึ่งประกอบด้วย
1) มาตรฐานด้านศักยภาพและความพร้อมในการจัดการศึกษา ด้านกายภาพ ด้านวิชาการ ด้านการเงิน ด้านการบริหารจัดการ
2) มาตรฐานด้านการดำเนินการตามภารกิจของสถาบัน ประกอบด้วย ด้านการผลิตบัณฑิต ด้านการวิจัย ด้านการให้บริการทางวิชาการแก่สังคม ด้านการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม
- การประเมินคุณภาพภายในระดับหลักสูตร มีตัวบ่งชี้ ทั้งหมด 14 ตัว ตั้งแต่ 1.1-1.14 ประกอบด้วย
ตัวบ่งชี้พัฒนา 1.2-1.14 เป็นตัวบ่งชี้ที่ต้องประเมินระดับหลักสูตรปริญญาตรี จำนวน 10 ตัวบ่งชี้ ปริญญาโท จำนวน 8 ตัวบ่งชี้ และปริญญาเอก จำนวน 9 ตัวบ่งชี้ มีดังนี้
- ตัวบ่งชี้ระดับคณะ จำนวน 9 ตัวบ่งชี้ (คะแนนเฉลี่ยระดับหลักสูตรในคณะ รวมกับอีก 8 ตัวบ่งชี้)
- ตัวบ่งชี้ระดับสถาบัน (มหาวิทยาลัย) จำนวน 10 ตัวบ่งชี้
- สาระสำคัญ คือ คะแนนการประเมินจากทุกหลักสูตร จะส่งผลต่อคะแนนประเมินระดับคณะ และระดับมหาวิทยาลัย ดังนั้น การดำเนินงานในระดับหลักสูตร คณะ และมหาวิทยาลัย จึงมีความสัมพันธ์และเกี่ยวข้องกันอย่างชัดเจน
อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของการบริหารหลักสูตรให้ได้คุณภาพตามตัวบ่งชี้และเกณฑ์ของ สกอ. นับเป็นบทบาทสำคัญของ ประธานหลักสูตรและคณะกรรมการประจำหลักสูตร รวมถึงอาจารย์ผู้สอนประจำหลักสูตรทุกท่าน สำหรับคณะและมหาวิทยาลัยฯ มีหน้าที่ในการสนับสนุน อำนวยความสะดวก แก้ปัญหาให้แก่หลักสูตรให้สามารถบริหารจัดการหลักสูตรอย่างมีประสิทธิภาพเป็นไปตามตัวบ่งชี้และเกณฑ์ที่ สกอ.กำหนด สนับสนุนและกำกับติดตามการจัดการเรียนการสอนของหลักสูตรอย่างใกล้ชิดเพื่อให้ได้อย่างมีคุณภาพ กล่าวโดยสรุป "ทุกคนในองค์กร มีกรอบและทิศทางตัวบ่งชี้และเกณฑ์การประเมินภายในตามที่ สกอ. กำหนดไว้" นั่นคือ ปฏิบัติตามหน้าที่และบทบาทที่มหาวิทยาลัยฯ มอบหมายโดยเคร่งครัด โดยใช้กระบวนการ PDCA คือ Plan ต้องมีแผน Do ปฏิบัติตามแผน Check ประเมินผล และ Action นำผลไปปรับปรุงการปฏิบัติงาน ส่วนบทบาทของสำนักงานประกันคุณภาพ คือ เป็นผู้บริหารระบบงานประกันคุณภาพ ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านประกันคุณภาพ อำนวยความสะดวกในการนำระบบประกันคุณภาพภายในตามแนวที่ สกอ.กำหนดมาใช้ในระดับมหาวิทยาลัย คณะ และหลักสูตร และรายงานผลการดำเนินงานให้แก่ มหาวิทยาลัย สภามหาวิทยาลัย และสกอ. เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป